1. เห็นชอบในหลักการต่อประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าสำหรับการหารือกับมาเลเซีย และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ใช้เป็นกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 – 29 มิถุนายน 2558 ที่กรุงเทพมหานคร
2. หากในการประชุมดังกล่าวมีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทย – มาเลเซีย ให้กระทรวงพาณิชย์และคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย รับรองผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 2 รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เป็นผลจากการหารือขยายความร่วมมือเฉพาะด้าน
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้รายงาน ครม.ว่า ได้จัดการประชุมส่วนราชการและเอกชนไทยที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 เพื่อพิจารณาประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่ฝ่ายไทยประสงค์จะผลักดันสำหรับการประชุม JTC ไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 2 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การตั้งเป้าหมายการค้าสองฝ่ายให้มีมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2561
2. การส่งเสริมการค้าชายแดน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับมาเลเซีย ได้แก่ การตั้งเป้าหมายการค้าชายแดนและการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนไทย – มาเลเซีย
3. การลดอุปสรรคทางการค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่ ผลักดันความร่วมมือด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – มาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกการสัญจรข้ามแดนของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าระหว่างกันผลักดันมาเลเซียให้มีการอนุญาตนำเข้าข้าวจากไทยทั้งโดยการขนส่งทางบกและทางน้ำ จากปัจจุบันที่อนุญาตเฉพาะทางน้ำ รวมถึงการพิจารณาผ่อนปรนข้อกำหนดการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานและผู้ประกอบการไทยในมาเลเซีย
4. ความร่วมมือเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนของไทยด้านที่ติดกับมาเลเซีย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
5. ความร่วมมือด้านฮาลาล ผลักดันความร่วมมือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายการส่งออกสินค้า ฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก เช่น สนับสนุนความร่วมมือด้านการพัฒนามาตรฐานและการรับรองตราฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมถึงการส่งเสริมการจัดและเข้าร่วมกิจกรรมและงานแสดงสินค้าฮาลาลระหว่างกัน
6. ความร่วมมือด้านยางพารา สนับสนุนความร่วมมือด้านยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าและอุตสาหกรรมที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ ทั้งด้านการผลิตและส่งออก โดยเฉพาะส่งเสริมการผลิตที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในไทยมากขึ้น
7. ความร่วมมือภาคเอกชน สนับสนุนการเชื่อมโยงและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนสองฝ่าย โดยตระหนักถึงความสำคัญของภาคธุรกิจในการเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน