ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (สกกร.) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ จึงออกประกาศให้โรงงานสกัดน้ำมันและลานเทรับซื้อผลปาล์มทะลาย และผลปาล์มร่วงจากเกษตรกรในราคาเดียว อัตราน้ำมันร้อยละ 17 ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.20 บาท และถ้าผลปาล์มทะลายที่นำมาขายมีเปอร์เซนต์น้ำมันสูงกว่าร้อยละ 17 ทุก 1% ที่เพิ่มขึ้น จะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 0.30 บาท ขณะที่ผลปาล์มที่มีเปอร์เซนต์น้ำมันต่ำกว่าร้อยละ 17 ทุก 1% จะลดราคาลงกิโลกรัมละ 0.25 บาท ซึ่งจะช่วยให้ให้เกษตรกรสามารถปรับตัวได้
และรัฐได้ผ่อนผันให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตที่มีเปอร์เซนต์น้ำมันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ได้ในช่วง 3 เดือนนี้ (พฤษภาคม–กรกฎาคม 2558) โดยให้ลานเทสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งตามที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ พร้อมกำหนดให้โรงกลั่นฯ โรงผลิตไบโอดีเซล และผู้รับซื้อน้ำมันดิบทั่วไป รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 26.20 บาท ณ หน้าคลังผู้รับซื้อในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันพืชปาล์มบรรจุขวด ไม่สูงกว่าราคาเพดานคือไม่เกินลิตรละ 42 บาท
ด้านนายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการ สศก. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป สกกร. จะออกประกาศให้โรงงานสกัดน้ำมันหรือลานเทรับซื้อผลปาล์มทะลายและผลปาล์มร่วงราคาเดียวอัตราน้ำมันไม่ต่ำกว่า 17% หากผลปาล์มทะลายที่เกษตรกรนำมาขายเป็นปาล์มที่ไม่มีคุณภาพหรือมีเปอร์เซนต์น้ำมันต่ำกว่าร้อยละ 17 ทางโรงสกัดน้ำมันหรือลานเทอาจปฏิเสธการรับซื้อได้ ดังนั้นเกษตรกรต้องดูแลสวนปาล์ม และตัดผลปาล์มที่สุกโดยสังเกตจากทะลายที่มีผลสุก มีสีผลปาล์มสุกตรงตามพันธุ์และมีผลปาล์มร่วงที่สุกธรรมชาติ 5-10 เมล็ดต่อทะลาย ซึ่งเกษตรกรจะสามารถขายผลปาล์มทะลายที่มีคุณภาพตามราคาประกาศได้
จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในจังหวัดที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันร่วมกันสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว และช่วยกันประชาสัมพันธ์ ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน การลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งขอความร่วมมือให้ทางจังหวัดในพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน ช่วยกำกับการดำเนินการของโรงงานสกัด ลานเท โรงกลั่นฯ และโรงผลิตไบโอดีเซล ให้เป็นไปตามมติ กนป. อย่างเคร่งครัดต่อไป
ทั้งนี้ จัดการสัมมนาเพื่อชี้แจงและประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ จะมีกำหนดจัดขึ้นรวม 3 ครั้งในจังหวัดแหล่งผลิตสำคัญ โดยครั้งแรกจัดที่จังหวัดกระบี่ (24 มิถุนายน 2558) ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี (26 มิถุนายน 2558) และครั้งที่ 3 ที่จังหวัดชลบุรี (10 กรกฎาคม 2558) โดยเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้งผู้แทนภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เกษตรกร ผู้แทนสถาบันเกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดประโยชน์นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิผล และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มได้อย่างยั่งยืนต่อไป