ทั้งนี้ ยอมรับว่าภายหลังจากมีกระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้น กรมสรรพสามิตได้เตรียมความพร้อมในการศึกษาเรื่องนี้ไว้ ซึ่งหากฝ่ายนโยบายสั่งการลงมาจะได้ดำเนินการได้ทันที
"หลักการจัดเก็บภาษีจำพวกบุหรี่ สุรา เบียร์ จะเก็บที่ราคาขายช่วงสุดท้าย แต่ในส่วนของก๊าซ LPG หากฝ่ายนโยบายให้เก็บในภาคขนส่งก็ต้องมาดูว่าจะสามารถเก็บที่หัวจ่ายได้หรือไม่ อย่างไร เพราะปกติแล้วการจัดเก็บภาษีก๊าซ LPG จะเก็บจากราคาหน้าโรงงาน ซึ่งอัตราจัดเก็บในปัจจุบันที่ 2.17 บาท/กก. หรือ 1.20 บาท/ลิตร กรมมีรายได้ในส่วนนี้ประมาณหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี และหากมีการปรับเพิ่มภาษีดังกล่าว ที่ 1 บาท/กก. จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2-3 พันล้านบาท" อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ
ด้านนายสุรศักดิ์ นิตติวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจก๊าซรถยนต์ไทย กล่าวว่า อยากขอความเห็นใจและความเป็นธรรมจากภาครัฐในการพิจารณาเรื่องการขึ้นภาษี หรือยกเลิกแนวคิดดังกล่าวนี้ไปก่อน ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตรับเรื่องไว้แล้ว แต่ยอมรับว่าทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล
พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้ประกอบการในธุรกิจก๊าซ LPG ที่มีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ รวมทั้งปั๊มก๊าซ LPG อีก 2 พันแห่ง และศูนย์ติดตั้งก๊าซ LPG อีก 1 พันแห่ง รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซ LPG ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี จะได้รับผลกระทบจากแนวคิดดังกล่าวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และประชาชนจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 20-30% จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาด้วย