กฟผ. และประชาชนมีความเห็นร่วมกันในการดำเนินงานระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 จากจังหวัดพังงามายังจังหวัดภูเก็ตว่า กฟผ. จะก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวในแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 เดิม
ทั้งนี้ กฟผ.จะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าชั่วคราว 230 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 เพิ่มเติมอีก 1 วงจร เพื่อเสริมระบบความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดภูเก็ตให้แล้วเสร็จภายในปี 59 จากนั้นจะรื้อสายส่ง 115 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 ออก และก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 ให้แล้วเสร็จภายในปี 62 เพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น กฟผ. ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มแรงดัน หม้อแปลงไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของจังหวัดภูเก็ตเพิ่มเติมอีกด้วย
สำหรับสาเหตุที่ กฟผ. วางแผนดำเนินการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 แยกจากสายส่ง 115 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 เดิมนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้และเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง และยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงในระบบไฟฟ้าภาคใต้ในภาพรวมอีกด้วย
ขั้นตอนต่อไป กฟผ. จะดำเนินการด้านการออกแบบวิศวกรรมระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับการก่อสร้างในแนวสายส่งไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์เดิม และเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย ซึ่งการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องจาก กฟผ. ไม่ขยายเขตเดินสายไฟฟ้าเพิ่มเติม
แต่ในระหว่างงานก่อสร้างและใช้งานสายส่งไฟฟ้าชั่วคราว 230 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 กฟผ. อาจต้องดูแลไม่ให้มีต้นไม้ในเขตเดินสายไฟฟ้าชั่วคราว โดยจ่ายค่าทดแทนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดต้นไม้ในเขตเดินสายไฟฟ้าชั่วคราว เนื่องจากหากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอาจส่งผลให้ต้นไม้ล้มพาดสายไฟฟ้าก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในจังหวัดภูเก็ตได้
กรณีการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงใต้ดินในจังหวัดภูเก็ตนั้น ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใต้ดินจะสูงกว่าค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าแบบเดิมถึง 30-40 เท่า ซึ่ง กฟผ.จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจไม่ทันต่อความจำเป็นในการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กฟผ. ขอรับข้อเสนอแนะไปศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมต่อไป
ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 390 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้กับขีดจำกัดที่สายส่งไฟฟ้าแรงสูงทั้ง 2 สาย เดิมของ กฟผ. ได้แก่ สายส่ง 115 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 และสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ 455 เมกะวัตต์
“กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการจึงวางแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รวมถึงตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดภูเก็ตในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 แล้วเสร็จในปี 62 จะสามารถส่งไฟฟ้ามายังจังหวัดภูเก็ตได้กว่า 2,000 เมกะวัตต์"นายวิชัย กล่าว