(เพิ่มเติม) SME Bank แจงเงื่อนไข Policy Loan ดอกเบี้ย 4% คาดปล่อยครบ 1.5 หมื่นลบ.สิ้นปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 25, 2015 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME Bank) เปิดเผยว่า จากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.58 ที่ได้อนุมัติวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีแบงก์นำไปปล่อยกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก ในอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี โดยกระทรวงการคลังจะชดเชยให้เอสเอ็มอีแบงก์อีก 3% และให้ บสย.ค้ำประกันโดยมีเพดานค้ำสูงสุด 18% ของยอดสินเชื่อที่ปล่อยออกไปนั้น คณะกรรมการธนาคารได้กำหนดรายละเอียดในการกู้ยืมไว้แล้ว

สาระสำคัญคือ เงินกู้ที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุน SMEs รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันจะให้กู้ยืมเงินได้โดยให้ บสย.ค้ำประกันทั้งจำนวน

ส่วนวงเงิน 1-5 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นสมาชิกของภาคีของธนาคาร และภาคีเหล่านี้ช่วยกลั่นกรองคุณภาพให้ในเบื้องต้น จะสามารถผ่อนปรนในเรื่องหลักประกันได้ โดยให้ บสย.ค้ำประกันบางส่วน ส่วนวงเงิน 5-15 ล้านบาท การพิจารณาเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคาร ทั้งในเรื่องศักยภาพของลูกหนี้ และการกำหนดมูลค่าหลักประกัน

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าการกู้ยืมในทุกวงเงิน SMEs โดยเฉพาะรายย่อยที่มากู้ยืมจะต้องไปจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ หรืออย่างน้อยกับศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และในขณะนี้ภาคีของธนาคาร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี กรมพัฒนาชุมชน และสมาคมการค้าต่างๆ ได้เริ่มพา SMEs ที่เป็นสมาชิกเข้ามายื่นขอกู้แล้ว เชื่อว่าสามารถปล่อยกู้ได้ครบ 15,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2558 ตามที่กำหนดไว้

นางสาลินี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้อนุมัติวงเงินเพิ่มทุน จำนวน 1 พันล้านบาทให้แก่ธนาคารเรียบร้อยแล้ว โดยธนาคารจะแบ่งวงเงิน 500 ล้านบาทเพื่อไปลงทุนในกองทุนร่วมลงทุนในกิจการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี(SMEs Private Equity Trust Fund) ตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา

ด้านนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ผลประกอบการธนาคารเดือน พ.ค.58 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 78 ล้านบาท ดีขึ้นจากเดือน เม.ย ทำให้มีกำไรสุทธิรวม 5 เดือน(ม.ค.-พ.ค.58) จำนวน 503 ล้านบาท ดีกว่าที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู ส่วนทางด้านการขยายสินเชื่อได้มียอดเบิกจ่าย 2,469 ล้านบาทในเดือน พ.ค.58 รวมเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ ม.ค.-พ.ค.58 เท่ากับ 13,623 ล้านบาท ทั้งนี้สินเชื่อที่ปล่อยกู้เพิ่มในปี 2558 มีวงเงินต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท และมีจำนวน 6,061 ราย มียอดสินเชื่อคงค้าง 86,461 ล้านบาท

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ธนาคารสามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ในเดือน พ.ค.58 ได้ดีขึ้น กล่าวคือ NPLs เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.58 เพียง 17 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค.58 ธนาคารมียอด NPLs เท่ากับ 28,785 ล้านบาท (คิดเป็น 33.29 %) ลดลงจากยอด NPLs จำนวน 31,960 ล้านบาท (คิดเป็น 37.61 %) ณ สิ้น ธ.ค.57 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับเป็นผลงานที่น่าพึงพอใจตามควรเมื่อพิจารณาได้ว่า SMEs รายย่อยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร ได้รับผลกระทบสูงมากจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดว่าเดือน มิ.ย.58 NPLs ของธนาคารจะลดลงได้อีก เพราะการขายลูกหนี้ NPLs ที่ธนาคารดำเนินการอยู่จะปรากฎผลในเดือน มิ.ย.

นอกจากนั้น ในเรื่องการดูแลลูกค้า SMEs รายย่อยที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ธนาคารได้จัดงานเริ่มต้นวันใหม่ โดยเชิญลูกหนี้สถานะคดีฟ้องร้องแล้วถึงพิพากษาและบังคับคดี ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 3,078 ราย คิดเป็นเงินต้น 1,403 ล้านบาท ซึ่งจะจัดคลินิกเจรจาต่อรองเป็นรายบุคคล เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้รายย่อยไม่ถูกฟ้องล้มละลาย ได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่

นอกเหนือการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุนใน Private Equity Trust Fund ของกระทรวงการคลังแล้ว พันธกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของเอสเอ็มอีแบงก์ คือการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบ การ SMEs ทั้งก่อนและหลังอนุมัติสินเชื่อ โดยมีโครงการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs โดยการให้คำปรึกษาแนะนำ ในลักษณะ Coaching แบบพี่เลี้ยงธุรกิจแบบตัวต่อตัว ณ สถานประกอบการจริง ในการเขียนแผนธุรกิจและการจัดทำงบการเงิน ในปีนี้มีเป้าหมาย 1,000 ราย และธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการกับหน่วยราชการอื่นๆ เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้ SMEs ค้าขายผ่านสื่อออนไลน์ และขอพื้นที่วางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต

ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล ได้ตั้งคณะกรรมการธนาคารเพื่อสอบสวนคณะผู้บริหารระดับสูง 3 คน ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่าย นอกจากนั้นยังให้สอบสวนพนักงานระดับปฎิบัติการอีก 1 คน เพราะมีมูลชัดเจนว่าพนักงานเหล่านี้ได้ดำเนินการหรือละเลยในการบริหารงาน ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย โดยในระหว่างสอบสวนก็จะให้พนักงานเหล่านี้ออกจากตำแหน่งไว้ก่อน แต่ยังคงเป็นพนักงานของธนาคาร ในส่วนของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่สอบสวน จะประกอบด้วยบุคคลภายนอก เช่น ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) นักกฎหมายจากสำนักทนายความ อดีตผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบันของธนาคาร จะให้ความสำคัญในเรื่องความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต และความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา ตามนโยบายของรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ