"เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ราคาสินค้าบริการแทบทุกอย่าง ก็จะถีบตัวสูงขึ้นตามไปด้วย จนที่สุดแล้ว ผู้ใช้แรงงานก็อาจจะไม่มีเงินเหลือเก็บเลย เงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้นก็ไม่สามารถชดเชยกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้"
รวมทั้งการขอปรับขึ้นค่าแรงถึง 20% ในภาวะเศรษฐกิจช่วงปรับฐานและยังไม่มีความแข็งแกร่งมากพอ อาจจะส่งผลกดดันผู้ประกอบให้คิดหนักในเรื่องการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ใช้ทักษะน้อย รวมไปถึงหากสถานประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ได้แล้วนำไปสู่การปิดกิจการ เหมือนครั้งที่เคยเกิดขึ้นตอนปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดเป็น 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งคนที่ต้องเดือดร้อนที่สุดคือพี่น้องผู้ใช้แรงงาน จึงอยากให้มองอย่างรอบด้านถึงผลที่จะตามมาให้ลึกซึ้ง
นอกจากนี้ หากมองตามข้อเท็จจริงจะพบว่า ค่าจ้างแรงงานไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การแข่งขันในตลาดโลกก็ทำได้ลำบากมากอยู่แล้ว การขึ้นค่าแรงงานซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักของอุตสาหกรรมจะยิ่งทำให้สินค้าไทยแข่งขันลำบากมากขึ้นไปอีก กระทบต่อการจ้างงานและดุลการค้าของประเทศ และอัตราค่าจ้างที่สูงของไทยจะดึงดูดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในท้ายที่สุดผู้ได้รับผลกระทบคือแรงงานไทยที่ถูกแย่งงานไปทำ
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าใจและเห็นใจพี่น้องแรงงาน จึงอยากวางระบบสวัสดิการที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างหลักประกันในระบบยาว มากกว่าการใช้นโยบายแบบสุกเอาเผากิน ลูบหน้าปะจมูก ให้ผลประโยชน์เทียมระยะสั้นๆ แต่ไม่อาจสร้างความมั่นคงแก่พี่น้องแรงงานในระยะยาว จึงกำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสมอว่า แรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ต้องดูแล ซึ่งควรดูแลด้วยการสร้างหลักประกันในรูปแบบการมีสวัสดิการในระยะยาวให้แก่แรงงาน เข้มงวดให้นายจ้างปฏิบัติการกฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยการทำประกันสังคมให้ลูกจ้าง กำหนดสัญญาการจ้างงานที่เป็นธรรม การจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้แรงงานสามารถออมเงินไว้ใช้ในยามชราโดยที่รัฐบาลสมทบเงินให้เป็นประจำทุกเดือน
"ท่านนายกฯ อยากเห็นการดูแลแรงงานที่เป็นระบบอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการบริหารจัดการให้ราคาสินค้าและบริการสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่เพิ่มภาระให้แก่พี่น้องแรงงาน"