ศูนย์วิจัยกสิกรฯเล็งทบทวนตัวเลขส่งออกใหม่ มองการฟื้นตัวใน H2 ยังมีข้อจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 26, 2015 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2558 ลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 0 หลังจากที่การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ยังคงมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด และคงไม่อาจชดเชยสถานการณ์การหดตัวลงต่อเนื่องนับจากต้นปี 2558 ที่ผ่านมาได้ทั้งหมด

ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะมีภาพที่ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ช่วยหนุนให้การส่งออกกลับมาบันทึกตัวเลขขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวของการส่งออก อาจจะยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ยังคงมีความเปราะบางและฟื้นตัวได้ในกรอบที่จำกัด ประกอบกับโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่เอื้อต่อการแข่งขันและสามารถตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดยุโรปยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมทั้งในเรื่องของความเสียเปรียบคู่แข่งจากการที่ไทยสูญเสียสิทธิ GSP และภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองไทยเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายตามระเบียบ IUU Fishing

"แม้ขณะนี้จะเริ่มมีบางสัญญาณที่อาจสะท้อนว่า ปัจจัยลบบางตัวที่ฉุดการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี อาทิ แรงกดดันจากราคาสินค้าส่งออก และความสามารถในการแข่งขันของค่าเงินบาท น่าจะเริ่มทยอยผ่อนคลายลงได้บ้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยเชิงบวกดังกล่าวอาจจะยังไม่สามารถหนุนการฟื้นตัวของการส่งออกได้มากนัก เพราะยังมีอีกหลายตัวแปรเสี่ยงที่รอกดดันอยู่" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์รายงานข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.58 ยังคงตอกย้ำมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2558 โดยการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.58 มีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 5.01 จากที่หดตัวร้อยละ 1.70 ในเดือนเม.ย.58 และส่งผลทำให้สถานการณ์การส่งออกตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 หดตัวลงร้อยละ 4.2 ซึ่งไม่เพียงสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ล่าช้า หากแต่ยังซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่เอื้อต่อการแข่งขันและสามารถตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดยุโรปยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมทั้งในเรื่องของความเสียเปรียบคู่แข่งจากการที่ไทยสูญเสียสิทธิ GSP และภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองไทยเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายตามระเบียบ IUU Fishing


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ