นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของยุโรปหรือไม่ เพราะยุโรปถือเป็นตลาดส่งออกหลักแห่งหนึ่งของไทย จากเดิมที่กลุ่มประเทศนี้มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ อยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าจะกระทบกับการส่งออกของไทยมากน้อยเพียงใด แต่ในเบื้องต้นยังไม่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่การลงทุนในตลาดทุนนั้น ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะมองว่าหลายประเทศยังไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีของกรีซ เนื่องจากกรีซได้เปลี่ยนเจ้าหนี้จากสถาบันการเงินของประเทศเยอรมัน และฝรั่งเศส มาเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) สหภาพยุโรป(EU) และธนาคารกลางยุโรป(ECB) ซึ่งมั่นใจว่า 3 เจ้าหนี้หลักจะมีแผนรองรับในส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว
"ธุรกิจหลักของกรีซคือ การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ที่เป็นรายได้สำคัญของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับกรีซมีไม่มาก จึงยังไม่น่าเป็นห่วงอะไร แต่ต้องจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดว่าท้ายสุดแล้ว ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปมากน้อยแค่ไหน ส่วนในแง่ตลาดเงินกับไทยนั้น อาจจะเกิดภาวะเงินทุนไหลเข้าออกบ้าง แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติจะดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว ซึ่งโดยรวมยังไม่มีปัจจัยใดที่น่าห่วงจากกรณีของกรีซ" โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
นายกฤษฎา ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีหลายส่วนที่น่าเป็นห่วง แต่มีหลายภาคธุรกิจที่กลับมาเป็นปัจจัยหนุน โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคเกษตรยอมรับว่าตอนนี้มีปัญหาภัยแล้งเข้ามากดดัน โดยในช่วงที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัว(GDP)ของภาคเกษตรในปีนี้เหลือโต 1.4% จากเดิม 2.5-3.0% ซึ่งในส่วนนี้จะมีผลต่อการขยายตัวของ GDP โดยรวมของประเทศให้ลดลงราว 0.15% ขณะที่ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยอมรับว่าต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย