(เพิ่มเติม1) สภาองค์การนายจ้างฯ หนุนปรับค่าแรงขั้นต่ำตามพื้นที่ ชี้หากขึ้นอีกมีผลกระทบรุนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2015 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยที่จะให้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ต่างกันไป เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดค่าจ้าง เช่น แหล่งวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างอีกจะส่งผลให้ไม่เกิดการลงทุนใหม่เพิ่มเติม

"อัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 300 บาท ช่วงนี้ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับค่าจ้าง" นายธนิต กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการกรณีมีข้อเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท/วัน เป็น 360 บาท/วัน

พร้อมระบุว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท/วัน ผู้ประกอบการ 90% เห็นว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ค้านปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

"ขณะนี้กำไรแทบไม่มี ไม่ใช่กำไรแคบนะ ธุรกิจแค่พยุงตัวอยู่ได้เท่านั้น" นายธนิต กล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผู้ประกอบการยอมรับได้หากจะมีการปรับขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าฟื้นตัวคือ 310-320 บาท/วัน

"ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นค่าจ้างก็จะปรับขึ้นเพราะเกิดการแย่งแรงงานไปโดยปริยาย ซึ่งเอกชนเห็นว่าค่าจ้างที่เหมาะสมหากจะปรับขึ้นในปีหน้าคือ 310-320 บาท/วัน" นายธนิต กล่าว

โดยมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าตอบแทนแรกเข้าจึงไม่ควรปรับบ่อยๆ หรือปรับขึ้นทุกปีเพราะปัจจุบันแรงงานไทยสว่นใหญ่ได้ค่าจ้างเกิน 300 บาท/วัน ขณะเดียวกันไม่ควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศเพราะจะไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่ การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและความสามารถของแรงงาน

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ควรมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง เช่น ให้ตุลาการศาลแรงงานเข้ามาเป็นตัวแทนภาครัฐ ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวจะเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงาน หรือรัฐบาล

ส่วนเรื่องสภาวะการจ้างงานนั้นจะสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจ วันนี้จะนำผลสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ 13 กลุ่มอุตสาหกรรมมาประเมินร่วมกัน ซึ่งผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการ 40% เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังทรงตัว และอีก 40% เชื่อว่าดีขึ้น ส่วนที่เหลือ 20% เชื่อว่าหดตัว

"ผู้ประกอบการในปริมณฑลยังเชื่อมั่นว่าดีขึ้น แต่ในต่างจังหวัดยังสับสน เพราะมีปัญหาเรื่องภัยแล้งเข้ามา ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อจากภาคเกษตรหายไป" นายธนิต กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วง H2/58 ยังเป็นเรื่องของการส่งออกที่มีสัดส่วนถึง 60%ของจีดีพี และมีความเกี่ยวพันกับห่วงโซ่เศรษฐกิจหลายสาขา ซึ่งคาดว่าการส่งออกปีนี้จะหดตัวไม่ต่ำกว่า 2%

"ถ้าแก้เรื่องส่งออกไม่ได้ เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวยาก เพราะเกี่ยวกันกับธุรกิจหลายอย่าง...ฟันธงได้เลยปีนี้ส่งออกติดลบมากกว่า 2%" นายธนิต กล่าว

ส่วนปัญหาค่าเงินก็มีผลต่อการแข่งขัน ถึงแม้บาทจะอ่อนค่า 4-5% แต่ในภูมิภาคก็อ่อนค่าเหมือนกัน พอเกิดปัญหากรีซมีโอกาสที่จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายสูง ทำให้นักลงทุนไปถือครองดอลลาร์อาจทำให้บาทอ่อนค่าเกินปกติ

นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการไตรภาคีให้มีความเป็นกลาง ปลอดการแทรกแซงทางการเมือง เพราะผลจากนโบายประชานิยมที่ผ่านมาเป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกอบการ

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากทำให้กำลังซื้อราว 50% ที่มาจากภาคเกษตรหดหายไป

ด้านนายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดส่งผลสรุปมาให้ภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากนั้นคณะกรรมไตรภาคีจะนำข้อมูลมาพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ส.ค.นี้

"เดือนสิงหาคมนี้จะมีความชัดเจนแน่นอน ส่วนจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม"ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

พร้อมระบุว่า การประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นวันที่ 1 ม.ค. และหากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างจริงก็ต้องมีการประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการรับทราบก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ