ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่า 1.พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ.2557 ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2557 เพื่อให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมทั้งผู้รับบำนาญและทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ซึ่งเคยเป็นสมาชิก กบข.ที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่บทบัญญัติในหมวด 3 สมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกแห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ใช้บังคับสามารถขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งผู้ขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ต้องคืนเงินให้หรือได้รับเงินจากส่วนราชการหรือ กบข. ดังต่อไปนี้
- กรณีผู้ขอกลับไปใช้สิทธิเป็นข้าราชการ ไม่มีเงินต้องส่งคืนให้แก่ส่วนราชการ แต่ไม่มี แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินสบทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว ส่วนเงินที่ได้รับจากส่วนราชการหรือ กบข. จะเป็นเงินสะสมและผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสะสม
- กรณีผู้ขอกลับไปใช้สิทธิเป็นผู้รับบำนาญ เงินที่ต้องส่งคืนให้แก่ส่วนราชการ คือ เงินสบทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวที่ กบข. คำนวณให้ในวันปิดบัญชีเงินรายบุคคล และเงินบำนาญที่ได้รับหรือพึงได้รับตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ตั้งแต่วันออกจากราชการจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 ส่วนเงินที่ได้รับจากส่วนราชการหรือ กบข. จะเป็นเงินบำนาญที่พึงได้รับตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ตั้งแต่วันออกจากราชการจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558
- กรณีผู้ขอกลับไปใช้สิทธิเป็นทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด เงินที่ต้องคืนให้แก่ส่วนราชการ คือ เงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสมทบ โดยไม่มีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว ส่วนเงินที่ได้รับจากส่วนราชการหรือ กบข. จะเป็นเงินบำนาญเหตุทดแทนตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ที่พึงได้รับตั้งแต่วันออกจากกองหนุนเบี้ยหวัดเพื่อรับบำนาญเหตุทดแทนจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558
โดยในกรณีที่ผู้ขอกลับไปใช้สิทธิเป็นผู้รับบำนาญจะใช้วิธีการหักกลบลบกัน โดยผู้รับบำนาญที่ต้องคืนเงินจะต้องส่งเงินคืนให้แก่ส่วนราชการภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 หรือแบ่งชำระเงินออกเป็นส่วน ๆ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558
2. เงินที่ผู้ขอกลับไปใช้สิทธิได้รับจากส่วนราชการหรือ กบข. ต้องเสียภาษี ดังนี้
2.1 เงินสะสม เป็นเงินที่สมาชิกได้จ่ายเข้า กบข. เมื่อได้รับเงินที่จ่ายไปนั้นคืนจาก กบข. จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2.2 ผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสะสม เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2.3 เงินส่วนเพิ่ม เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3. กรมบัญชีกลางคาดว่าจะมีผู้ขอกลับไปใช้สิทธิ 728,521 คน จากผู้มีสิทธิ 971,361 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ซึ่งขณะนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2558 มีผู้แสดงความประสงค์กลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 แล้ว จำนวน 346,554 ราย โดยกรมบัญชีกลางได้ประมาณการว่าเมื่อครบกำหนดแสดงความประสงค์ จะมีการจ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมให้แก่ข้าราชการ รวมประมาณ 26,610 ล้านบาท และ 14,135 ล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้งจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ผู้รับบำนาญและทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินส่วนเพิ่มดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น การขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ.2557 จะทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ประมาณ 1,220 ล้านบาท อย่างได้ก็ดี รายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนดังกล่าวไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการรายได้ภาษีสรรพากร ประจำปีงบประมาณ 2558 ดังนั้น การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ.2557 จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมาณการรายได้ภาษีสรรพากร
4. พระราชบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการและผู้รับบำนาญซึ่งเป็นสมาชิก กบข. โดยสมัครใจ แต่ต่อมาได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนคลาดเคลื่อนจากสมมติฐานที่ใช้ในการตัดสินใจเป็นสมาชิก กบข. ประกอบกับข้าราชการและผู้รับบำนาญส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ดังนั้น กค. พิจารณาแล้วเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสะสมและเงินส่วนเพิ่มที่ได้รับ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการและผู้รับบำนาญซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ.2557
5. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการจะมีส่วนช่วยทำให้ข้าราชการมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงมีดังนี้
1. การกำหนดให้เงินได้พึงประเมินที่ข้าราชการและผู้รับบำนาญได้รับเนื่องจากการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ. 2557 ดังต่อไปนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1.1 เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ที่ข้าราชการซึ่งขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ.2557
1.2 เงินส่วนเพิ่มที่ผู้รับบำนาญซึ่งขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ได้รับจากกรมบัญชีกลางตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ.2557
2. กำหนดให้เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ.2558 เป็นต้นไป