1. ความตกลงทวิภาคีด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – กัมพูชานั้น ปัจจุบันการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – กัมพูชา เป็นการขนส่งภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเริ่มใช้ความตกลงในการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(The Initial Implementation of the Cross-Border Transport Agreement : IICBTA) ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิการจราจรสำหรับการขนส่งพรมแดน ณ จุดผ่านแดน อรัญประเทศ – ปอยเปต โดยตามบันทึกความเข้าใจ IICBTA ไทย – กัมพูชา กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายเปิดเดินรถขนส่งสินค้าและรถโดยสารไม่ประจำทาง ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต จำนวนฝ่ายละ 40 คัน ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไทยประสงค์ขอเพิ่มจำนวนรถเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารเนื่องจากปริมาณสินค้าที่ส่งออกไปยังกัมพูชามีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงควรมีการจัดทำความตกลงทวิภาคีด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – กัมพูชา ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมเส้นทางในการขนส่งมากขึ้น
สาระสำคัญของความตกลงฯ ประกอบด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับสำหรับการขนส่งระหว่างไทย –กัมพูชา ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ เส้นทางจุดผ่านแดนสิทธิการจราจร/ประเภทของการขนส่ง การขนส่งสินค้า/ การขนส่งผู้โดยสาร ประเภทของรถ เอกสารสำหรับการขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่ง ข้อกำหนดทางเทคนิกของรถ การขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย การขนส่งสินค้าอันตราย พิธีการตรวจปล่อยบริเวณชายแดน การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กร ซึ่งการจัดทำความตกลงด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – กัมพูชา จะครอบคลุมเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดผ่านแดนถาวรที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2. การปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – ลาว มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. จุดผ่านแดน จากเดิมจุดผ่านแดนถาวรบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดบึงกาฬและเพิ่มเติมจุดผ่านแดนที่ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร เช่น จุดผ่านแดนภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ 2. พาหนะในการขนส่ง เพิ่มเนื้อหาให้มีความชัดเจนโดยกำหนดในความตกลงฯ และข้อตกลงฯ ให้ครอบคลุมพาหนะที่ใช้เพื่อการเดินทางส่วนบุคคล 3. ข้อกำหนดทางเทคนิคของพาหนะในการขนส่ง ให้สอดคล้องกับพาหนะในการขนส่ง โดยเพิ่มข้อกำหนดทางเทคนิกที่เกี่ยวข้องกับพาหนะเพื่อการเดินทางส่วนบุคคล และปรับปรุงข้อมูลที่ยังมีความคลาดเคลื่อน 4. เอกสารประจำยานพาหนะขนส่ง ให้ใช้เอกสารเท่าที่จำเป็น 5. การกำหนดเส้นทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องกับการเพิ่มเติมจุดผ่านแดนและข้อเรียกร้องของภาคเอกชน 6. การประกอบการขนส่ง ปรับปรุงถ้อยคำให้สอดคล้องกับหลักการสากลเรื่อง การยอมรับการประกอบการขนส่ง ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่ง
3. การจัดทำความตกลงการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างไทย – เวียดนาม มีการพิจารณาเปิดบริการเดินรถตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
1. จากจังหวัดนครพนม – สะพานมิตรภาพแห่งที่3 –ท่าแขก แขวงคำม่วน – ทางหลวงหมายเลข 12
- ทางหลวงสายโฮจิมินห์ (ทางหลวงหมายเลข 15) – นครฮาติงห์ ระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร
2. จากจังหวัดนครพนม – สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 –ท่าแขก แขวงคำม่วน –ทางหลวงหมายเลข 13
- ทางหลวงหมายเลข 8 – ด่านน้ำพาว – เกาแจว ทางหลวงหมายเลข 1 – นครฮาติงห์ ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร
3. จากจังหวัดอุบลราชธานี – ด่านช่องเม็ก–วังเตา – ปากเซ แขวงจำปาสัก – ทางหลวงหมายเลข 13
- ทางหลวงหมายเลข 18 – สามัคคีไชย แขวงอัตตะปือ – ทางหลวงหมายเลข 14 – กอนตูม
4. จากจังหวัดมุกดาหาร – สะหวันนะเขต – เว้ – ดานัง
5. จากจังหวัดหนองคาย/น่าน/เชียงของ – ไซยบุรี - เดียนเมียนฟู
4. การจัดทำความตกลงยานยนต์ระหว่างอินเดีย เมียนมา และไทย สำหรับการกำกับดูแลการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าบรรทุกระหว่างอินเดีย เมียนมา และไทย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศภาคีความตกลง ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ คำนิยามศัพท์ พาหนะ หนังสืออนุญาต เอกสารที่จำเป็น หนังสือเดินทางและวีซ่า ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ประกันภัย การใช้กฎหมายภายใน และการระงับข้อพิพาทและถอนการเป็นสมาชิก เป็นต้น