ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Thailand: a Regional Trading and Modern Industry Hub" ซึ่งมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกว่า 700 รายเข้าร่วมงานว่า IHQ และ ITC ถือเป็นส่วนหนึ่งในกิจการเป้าหมายของรัฐบาลที่จะมุ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับปรุงผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการ และเพิ่มขอบเขตการให้บริการ และเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการในหลายๆ ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสำคัญ เช่น รถไฟทางคู่ที่เชื่อมต่อทั้งภูมิภาคไปจนถึงประเทศจีนและญี่ปุ่น โครงการพัฒนาถนนและท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งชายแดนและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการค้าขายกับประเทศสำคัญๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย ประเทศในแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น
รวมถึงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เพื่อเชื่อมโยงกับอาเซียนและพัฒนาเขตชายแดนอันเป็นการสนับสนุนการสร้างฐานการผลิต การสร้างคลังสินค้าสำหรับกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของภูมิภาคอาเซียน
“งานสัมมนาในวันนี้ น่าจะช่วยให้นักธุรกิจและนักลงทุนไทยและต่างชาติมองเห็นถึงโอกาสในการดำเนินกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และบริษัทการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทย มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดในการส่งเสริมการลงทุนกิจการ IHQ และ ITC ในประเทศไทยแบบบูรณาการแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญเข้าร่วม ได้แก่ บีโอไอ กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมการจัดหางาน
"การส่งเสริมกิจการ IHQ และ ITC ในประเทศไทย มิได้มีเพียงบีโอไอเท่านั้นที่ให้การส่งเสริม แต่ยังมีหน่วยงานภาครัฐอีกหลายแห่งที่มีบทบาทสำคัญ อาทิ กรมสรรพากรให้การส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือธนาคารแห่งประเทศไทยที่สนับสนุนในการตั้งศูนย์บริหารเงิน หรือ Treasury Center รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือการสนับสนุนและจัดหาบุคลากรโดยกรมการจัดหางาน" นางหิรัญญากล่าว
สำหรับกิจการ IHQ และ ITC ที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – พฤษภาคม 2558) ประกอบไปด้วย กิจการ IHQ จำนวน 4 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 149 ล้านบาท กิจการ ITC จำนวน 14 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 177 ล้านบาท ถึงแม้มูลค่าเงินลงทุนของกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ จะไม่สูงนัก แต่มูลค่าจากการดำเนินธุรกิจกลับค่อนข้างสูงและเป็นไปอย่างยาวนานต่อเนื่อง เช่น มูลค่าจากการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เป็นต้น