ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้สรุปสิ่งที่ต้องจับตาเกี่ยวกับบปัญหาหนี้ของกรีซ ดังนี้
- 30 มิ.ย. 58 จ่ายคืนหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ราว 1.5 พันล้านยูโร - มีความเป็นไปได้สูงที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้ 1.5 พันล้านยูโรให้กับ IMF แต่คาดว่า IMF อาจให้เวลาผ่อนผันกรีซอีก 30 วัน ความรุนแรงปานกลาง
- 1 ก.ค. 58 ประชุมตัวแทนกลุ่มอีซีบี - กลุ่มผู้กำหนดนโยบายหลักของอีซีบีจะประชุมกันเพื่อหารือเรื่องกรีซ ที่อาจมีการผิดนัดชำระหนี้ IMFในวันนี้หลังจากที่ถูกระงับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากกลุ่มยูโรโซน ความรุนแรงต่ำ
- 5 ก.ค. 58 กรีซทำประชามติ – ถ้าประชาชนโหวด “no" กรีซจะผิดนัดชำระหนี้กับ ECB เป็นรายแรกในวันที่ 20 ก.ค. และออกจากยูโรโซนเพื่อกลับไปใช้เงินสกุลเดิมคือ Drachmas ถ้าโหวด “yes" กรีซอาจมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะยอมทำตามเงื่อนไขของ ECB ความรุนแรงสูง
- 13 ก.ค. 58 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยุโรปหารือก่อนกำหนดชำระหนี้ - รมต. คลังกลุ่มยูโรโซนจะประชุมกันเป็นนัดสุดท้ายเพื่อตัดสินใจว่าจะให้เงินช่วยเหลือกรีซต่อหรือไม่ ความรุนแรงปานกลาง
- 20 ก.ค. 58 กำหนดชำระหนี้ของ ECB ที่ 3.5 พันล้านยูโร ความรุนแรงสูง
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าค่าเงินยูโรจะเป็นสินทรัพย์แรกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณีหลักคือ ถ้ากรีซอยู่ในยูโรโซนต่อ หรือออกจากยูโรโซน ซึ่งทั้ง 2 กรณีเป็นปัจจัยที่จะทำให้เงินยูโรอ่อนค่าแต่ต่างกันที่ระยะเวลาของผลกระทบ
กรณีกรีซออกจากยูโรโซน – เงินยูโรอาจอ่อนตัวในระยะสั้น แต่จะแข็งค่าขึ้นในระยะยาว ในระยะสั้นนักลงทุนอาจมีความกังวลว่าประเทศกลุ่มลูกหนี้อื่นๆ อาจจะมีปัญหากับการจ่ายคืนหนี้เหมือนกัน แต่ในระยะยาวแล้วการที่กรีซออกจากกลุ่มยูโรโซนจะเกิดผลดีมากกว่า เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเหมาะสมกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งสำหรับกรีซและยูโรโซนเอง
กรณีกรีซอยู่ในยูโรโซนต่อ – เรามองว่าระยะสั้นค่าเงินยูโรอาจปรับตัวสูงขึ้นได้จากปัญหาที่ผ่อนคลายลง แต่ในระยะยาวกรีซยังมีแนวโน้มกลับมาสร้างปัญหาและทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงได้ ถึงแม้ว่ากรีซจะมีหนี้น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่น อิตาลี แต่ปัญหาหลักของกรีซอยู่ที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ จึงไม่สามารถเก็บภาษีอย่างเพียงพอเพื่อให้เกิดภาวะการคลังเกินดุลได้
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในวงจำกัดในกรณีที่กรีซผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากเจ้าหนี้กรีซส่วนใหญ่เป็นองค์การระหว่างประเทศ ประมาณ 70% ของหนี้กรีซ ถือโดย EU, ECB, IMF แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปอาจชะลอตัวลงและส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งการส่งออกไปยุโรปคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยุโรปจำนวน 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 57
"ผลกระทบกับตลาดไทยที่แย่ที่สุด น่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่กรีซผิดชำระหนี้และต้องออกจากกลุ่มยูโร โดยคาดว่าผลกระทบน่าจะเท่ากันหรือน้อยกว่าวิกฤตการเงินยุโรปรอบก่อนหน้า" เอกสารเผยแพร่ระบุ
สำหรับตลาดการเงินไทย ค่าเงินบาท พันธบัตรรัฐบาลและตลาดหุ้นไทย มีโอกาสที่จะโดนแรงขายจากการที่นักลงทุนปรับพอร์ทเพื่อหนีสินทรัพย์เสี่ยงสูง ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าตลาดได้เริ่มเข้าโหมดลดความเสี่ยงแล้ว ซึ่งไม่ว่าเรื่องของกรีซจะออกมาในทิศทางไหน เรายังเชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะไม่จบง่ายๆ และอาจต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 เดือนต่อจากนี้ ในการปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล ซึ่งทำให้นักลงทุนทั่วโลกจะวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ "ปลอดภัย" เท่านั้น
ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า เงินบาทหรือสินทรัพย์ทางการเงินในไทย น่าจะยังไม่ใช่เป้าหมายของนักลงทุนถ้าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและตลาดการเงินของสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น โดยที่ผลกระทบอาจอยู่ในระดับเดียวกันหรือน้อยกว่าครั้งที่เคยเกิดขึ้นกับวิกฤตยูโรโซนครั้งก่อนหน้าในช่วงไตรมาส 3/54
ในส่วนของการเข้าแทรกแซงค่าเงิน แม้ว่าเราจะเห็นว่าค่าเงินบาทที่อ่อน น่าจะเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการมากกว่าค่าเงินที่แข็ง แต่การที่ค่าเงินผันผวนเกินไปก็ยังเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรเข้ามาช่วยดูแล ทำให้เชื่อว่าค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบขาขึ้นมากกว่าที่จะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากเรื่องของกรีซ