“การขึ้นทะเบียนเรือ และอาชญาบัตรเรือ ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเพื่อกำหนดทิศทางการวางแผนด้านการประมงให้เป็นระบบ เพื่อให้สามารถวางแผนการจัดการด้านการประมงและวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการประมงอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ เพราะกระทรวงเกษตร ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี ซึ่งหาก ไม่ขึ้นทะเบียน ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะต้องตรวจสอบทั้งเรื่องเรือ คน โดยเฉพาะแรงงาน รวมทั้ง เครื่องมือประมงต้องเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งหากภาครัฐไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดก็จะไม่สามารถวางแผนใดได้เลย จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด” นายปีติพงศ์ กล่าว
ดังนั้น ทางกรมประมงร่วมกับกรมเจ้าท่าจึงจะจัดหน่วยเคลื่อนที่แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จำนวน 10 หน่วย เพื่อขึ้นทะเบียนเรือประมง เครื่องมือการทำประมง ใบอนุญาตนายท้ายเรือ นายช่างเครื่อง เป็นต้น ภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ สามารถรองรับการขึ้นทะเบียนเรืออย่างน้อยวันละประมาณ 1,600 ลำ
นายปีติพงศ์ กล่าวอีกว่า ไทยต้องเร่งดำเนินการ 3 เรื่อง เพื่อปลดล็อคใบเหลืองสินค้าประมงหลังถูกสหภาพยุโรป(EU) ประเมินเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม(IUU) ได้แก่ 1.ออกกฎหมายเพื่อดูแลกิจการประมงเป็นการเฉพาะ 2.จัดทำแผนกิจการประมงทั้งระบบ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และส่วนที่ 3 คือ การขึ้นทะเบียนเรือประมงให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถที่จะผ่อนผันหรือขยายเวลาให้แก่ผู้ประกอบการได้อีก เพราะไม่เช่นนั้นหาก EU เข้ามาประเมินแล้วไม่ผ่านก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยทั้งหมด
รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจาก EU ได้มาประเมินการทำประมงของไทยเมื่อเดือน ต.ค.57 แล้ว ครั้งต่อไปจะเข้ามาประเมินในเดือน ส.ค.นี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้มงวด โดยต้องจัดตั้งท่าเรือเข้า-ออกตรวจสอบเรือประมงที่มีขนาด 30 ตันขึ้นไป โดยจะตรวจสอบการจดทะเบียนเรือ ใบอนุญาตทำการประมง เครื่องมือประมง และแรงงานต่างด้าวที่ต้องจดทะเบียนแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้ตั้งศูนย์จดทะเบียนเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกรับจดทะเบียน 8 แห่งทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 15 ก.ค.นี้
รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ช่วยปรับตัวและให้ข้อมูลกับรัฐบาลเรื่องการจดทะเบียนเรือ ใบอนุญาตทำการประมงเพื่อให้ทราบข้อบกพร่อง และดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้มีการจัดตั้งศูนย์จดทะเบียนเคลื่อนที่ 8 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะให้บริการถึงวันที่ 15 ก.ค.นี้ โดยเรือประมงทุกลำจะต้องมีใบอนุญาต 3 ประเภท คือ 1.ทะเบียนเรือจากกรมเจ้าท่า 2.ใบอนุญาตการทำประมงหรืออาชญาบัตรจากกรมประมง และ 3.เอกสารการจ้างงานและการใช้แรงงานบนเรืออย่างถูกกฎหมาย
ทั้งนี้ ในวันนี้ทางศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันว่าจะมีมาตรการใดเร่งรัดให้เรือออกทำประมงเร็วขึ้นหรือไม่
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงผลกระทบในการแก้ไขปัญหาเรือประมงให้ถูกต้องตามหลักกฏหมายว่า การที่เรือประมงหยุดเดินเรืออาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักของอุปสงค์และอุปทาน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอาหารทะเลอยู่ในสต็อกเพื่อการส่งออกอยู่ แต่อาจกระทบต่อธุรกิจปลาป่น ที่เริ่มไม่เพียงพอ