นอกจากนั้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คือ การกำหนดมาตรฐานสากล (New Common) ในรายงานประเมินการค้ามนุษย์ของสหรัฐ(Tip Report)โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะถูกปรับลดอันดับในเรื่องดังกล่าวเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม เพราะประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านต่างก็ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น ขณะที่ไทยเองก็มีความต้องการแรงงานค่อนข้างมากเช่นกัน
รวมถึงประเด็นการขัดต่อกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(IUU)ของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตลอดจนอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(CITES) อีกทั้งปัญหามาตรฐานด้านการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(iCAO)
"การกำหนดมาตรฐานสากลดังกล่าวส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยปรับตัวลดลง และเกิดการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าขั้นปฐมที่ต่ำลงไปด้วย ขณเดียวกันจากปัจจัยดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนในด้านสมดุลทางพลังงาน ทั้งราคาพลังงานที่ปรับลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันปรับลดลง และส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ติดลบ"นายณรงค์ชัย กล่าว
นายณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายๆด้าน เพื่อให้สอดคล้องไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ก็เป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการปรับปรุง แก้ไขปัญหาภายในประเทศเอง โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่เร่งดำเนินการอยู่นั้น ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การปฎิรูปการศึกษา ปฎิรูปพลังงาน การจัดระบบที่ดิน การบริหารจัดการน้ำ การลงทุนด้านโลจิสติกส์ และดิจิตอลเทคโนโลยี จึงทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไม่น่าจะไปได้อย่างรวดเร็วอย่างที่คาดการณ์ไว้
"เศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในภาวะ Slow Growth ต่อไปและมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 4% จากผลกระทบของ New Common ที่จะทำให้เกิดการปฎิบัติอย่างสากล ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกที่ติดลบ ราคาสินค้าขั้นปฐมต่ำลง ขณะเดียวกันภายในประเทศเองก็อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ทำให้การขยายตัวไม่น่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งน่าจะใช้เวลาในการจัดระเบียบพอสมควร"นายณรงค์ชัย กล่าว
นายณรงค์ชัย กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาสต็อกข้าวว่า ล่าสุดรัฐบาลได้ส่งมอบข้าวเกรด C จำนวนมากกว่า 5 ล้านตัน เพื่อให้กระทรวงพลังงานเร่งระบายสต็อก โดยปัจจุบันมีแนวทางจะนำข้าวดังกล่าวไปผลิตเอทานอลแทนมันสำปะหลัง ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณข้าวได้ 1-1.3 ล้านตัน ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างหาแนวทางอื่นเพิ่มเติม เบื้องต้นอาจจะนำไปผลิตพลังงานทดแทนประเภทอื่น เช่น ไบโอชาร์หรือถ่านชีวภาพ เป็นต้น