ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 1 ปี โดยมีปัจจัยลบมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือโต 3.0% จากเดิมที่คาดโต 3.8% หลังมองเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำและฟื้นตัวช้า, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าว และยางพารา รวมถึงภาวะภัยแล้งในปัจจุบัน, ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของไทย, การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.ลดลง 5%, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย และ ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.58 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ถือว่าเป็นสัญญาณที่น่ากังวลและเป็นจุดอันตรายพอสมควร ประกอบกับการที่อัตราเงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เช่นกัน ประกอบกับแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัว เช่น อัตราการใช้กำลังการผลิต การบริโภค การลงทุนที่แนวโน้มยังไม่ค่อยดีในไตรมาส 2 ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ทำให้ ม.หอการค้าไทย เปลี่ยนมุมมองภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่โต 3% มาเป็นคาดว่าจะโตได้น้อยกว่าไตรมาสแรก โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5-3%
“จากเงินเฟ้อและอารมณ์ความเชื่อมั่นที่ฝืดๆ ก็จะเป็นอาการเดียวกัน สิ่งที่เดิมม.หอการค้าไทยมองไว้ว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นได้ในไตรมาส 2 แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนมุมมองว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจอาจจะโตต่ำกว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัวได้ 3% โดยไตรมาส 2 อาจอยู่ที่ 2.5-3% เหตุผลสำคัญคือความเชื่อมั่นที่ลดลง ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยออกมายังไม่ดี ทั้งส่งออกติดลบ เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิต ตัวเลขการบริโภค การลงทุน ทำให้เห็นสัญญาณในไตรมาส 2 ที่ยังไม่ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 1 ปี และสัญญาณตัวเลขต่างๆ ยังปักหัวลงอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะความเชื่อมั่นที่ถดถอย และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะดึงกลับขึ้นมาได้" นายธนวรรธน์ ระบุ
ขณะที่ คาดว่า การบริโภคของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักในไตรมาส 3 เนื่องจากประชาชนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญในช่วงที่การส่งออกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนอยู่ อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าการบริโภคของประชาชนน่าจะฟื้นตัวได้เด่นชัดในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีจุดอันตรายที่สำคัญ คือ ปัญหาหนี้ของกรีซที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในเรื่องการเจรจาเงื่อนไขการชำระหนี้ และการลงประชามติในวันอาทิตย์นี้ว่าประชาชนกรีซจะตอบรับหรือปฏิเสธเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ ซึ่งจะมีผลต่อการคงอยู่หรือออกจากยูโรโซนด้วยนั้น ย่อมจะมีผลต่อการส่งออกในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ เพราะจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะมีผลให้ผู้นำเข้าจากต่างประเทศชะลอคำสั่งซื้อสินค้าไว้ก่อน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปอียูในไตรมาส 3 ปีนี้ได้ และจะทำให้ภาพรวมการส่งออกในปีนี้อาจจะลดลงเหลือ -1% ถึง -2% จากเดิมที่มองว่าการส่งออกของไทยจะโตได้ 0.4% ในปีนี้
“การที่กรีซผิดนัดชำระหนี้ การทำประชามติ การเจรจาหรือไม่เจรจากับเจ้าหนี้ในอนาคต การจะออกหรือไม่ออกจากยูโรโซนนั้น สถานการณ์เหล่านี้จะทำให้ผู้สั่งซื้อของต่างประเทศสั่งซื้อสินค้าได้ไม่มาก เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ ดังนั้นคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาส 3 จะชะลอและทำให้การส่งออกในช่วงนี้ไม่ค่อยดีนัก" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมมองว่า การส่งออกที่ยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น ถือเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นและบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้งเข้ามาเพิ่มเติม ปัญหาราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ และล่าสุดปัญหาการทำประมงที่เข้ามาเป็นปัจจัยซ้ำเติมสถานการณ์และความเชื่อมั่น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้จะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 จึงทำให้ความเชื่อมั่นจะยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังมีสัญญาณไม่โดดเด่น
จากสถานการณ์เหล่านี้ ม.หอการค้าไทย มองว่าการที่เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะโตได้ต่ำกว่า 3% เริ่มมีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ยังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 3.2% หรืออยู่ในช่วง 3.0-3.5% และเห็นว่าหากมีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้สามารถอ่อนค่าไปที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ได้ พร้อมกับการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นตัวนำร่องในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ SMEs ก็จะมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือภาคส่งออกได้อีกทางหนึ่ง