ขณะที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมาได้ดี
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค SCB EIC เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะเติบโตได้ราว 3% แม้ว่าครึ่งปีแรกจะชะลอตัวจากกระทบการที่ภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนในการลงทุนออกมา และการเบิกจ่ายงบประมาณก็มีความล่าช้า ประกอบกับภาคการส่งออกของไทยใน 5 เดือนแรกหดตัว 4.2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนลดลง ทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม EIC คาดหวังการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะเร่งตัวขึ้น โดยเฉาะในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 58 ที่จะส่งผลในเชิงลูกโซ่ต่อภาคการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวขึ้น อีกทั้งการขึ้นเงินเดือนของราชการ และมาตรการช่วยเหลือรายได้ช่วยให้ภาคการบริโภคดีขึ้น นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงปลายปี
สำหรับภาคการส่งออกไทยในปีนี้ EIC ปรับลดประมาณการลงมาเป็นติดลบ 1.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.3% เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกยังติดลบอย่างต่อเนื่อง รับผลกระทบเศรษฐกิจต่างประเทศชะลอตัว แต่คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับค่าเงินบาชในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มการอ่อนค่ามาอยู่ที่ 34-35 บาท/ดอลลาร์ จากครึ่งปีแรกที่กว่า 32 บาท/ดออลาร์จะทำให้ภาคการส่งออกไทยมีการฟื้นตัวขึ้น
ทั้งนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/58 จะขยายตัวได้ 0.3-0.4% และไตรมาส 4/58 จะขยายตัวได้ 0.4%
นอกจากนี้ EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 1.25% ในช่วงไตรมาสที่ 3 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/58 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ออกมาแล้วยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นของภาคการบริโภคไนประเทศและภาคการลงทุน ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อยังต่ำอยู่ยังทำให้มีช่องว่างให้สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้เล็กน้อย โดยเติบโตราว 3.3% ปัจจัยสนับสนุนมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัว และมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้น รวมขึ้นการส่งออกน่าจะกลับมาขยายตัวได้ราว 3.6% จากการลงทุนโครงการพื้นฐานทางด้านคมนาคมและขนส่งที่จะสนับสนุนการส่งออกไทยไปยังกลุ่ม CLMV ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับศักยภาพ และมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้น 0.25-0.50% ตามแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับขึ้น
"เรายังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความแข็งแกร่งมากกว่า 18 ปีที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 40% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าหนี้ระยะสั้น 2-3 เท่า และสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกได้"นายพชรพจน์ กล่าว