SCB EIC ชี้เงินเฟ้อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดเร่งตัว H2/58 มองทั้งปี 0.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 2, 2015 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 58 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 1.07%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) โดยเมื่อเทียบระหว่างเดือนแล้วเป็นการปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคงตัวที่ระดับ 0.94%YOY เช่นเดียวกับเดือนพฤษภาคม

SCB EIC ยังคงมุมมองเดิมว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มเร่งตัวขึ้นได้อย่างช้าๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป โดยจะมีปัจจัยเร่งตัวของเงินเฟ้อพื้นฐานดังต่อไปนี้ ผลของราคาน้ำมันที่จะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 58, เงินเฟ้อในส่วนของอาหารสดที่จะเร่งตัวขึ้น เมื่อผลกระทบทางอ้อมจากราคาน้ำมันผ่านต้นทุนค่าขนส่งหายไป ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่จะทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น และเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางปรับตัวขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป ตามทิศทางต้นทุนอาหารสดและราคาก๊าซหุงต้นที่เตรียมปรับขึ้นตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

"อีไอซีประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 58 ที่ระดับ 0.1% และ 0.7% ตามลำดับ" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน พบว่าราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเป็นแรงผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ดัชนีราคาพลังงานในเดือนมิถุนายนหดตัวอยู่ที่ระดับ 13.9%YOY โดยหดตัวช้าลงจาก14.4%YOY ในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับระดับราคาน้ำมันขายปลีกเฉลี่ยที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิถุนายน ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นได้ และหากวิเคราะห์จากที่แหล่งที่มาของเงินอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ก็จะพบว่าการหดตัวที่เกิดจากเงินเฟ้อในส่วนส่วนพลังงานนั้นก็ชะลอลงเช่นกัน เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีราคาน้ำมันขายปลีกเฉลี่ยแพงที่สุดในปี 57

นอกจากนี้องค์ประกอบอื่นๆ ของดัชนีพลังงานเดือนมิถุนายน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าและค่าพลังงานในบ้านต่างก็ทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคมทั้งสิ้น ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านพลังงานต่อการคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะเริ่มทยอยหายไปตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในส่วนของอาหารสดเดือนมิถุนายนยังคงหดตัวที่ระดับ 0.1%YOY ต่อเนื่องจากการหดตัว 0.9%YOY ในเดือนพฤษภาคม จากผลกระทบทางอ้อมของต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ถึงแม้ราคาอาหารสดส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0.6% MOM SA จากปัญหาภัยแล้งก็ตาม

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 0.94%YOY ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการเร่งตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน หลังจากที่ชะลอตัวลงตลอดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 57 เป็นต้นมา คล้ายคลึงกับกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เนื่องจากเงินเฟ้อในส่วนของอาหารสำเร็จรูปกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้งที่ระดับ 1.1%YOY เมื่อเทียบกับระดับ 1%YOY ในเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งเงินเฟ้อในส่วนของสินค้าที่ไม่ใช่อาหารยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับใกล้เคียงเดิมมาตั้งแต่ต้นปี 58 ทำให้โดยรวมแล้วอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นได้ในที่สุด หลังจากที่มีทิศทางชะลอตัวเรื่อยมาในช่วงก่อนหน้านี้ นับเป็นสัญญาณทางราคาว่าเศรษฐกิจไทยมิได้เสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ