"วันนี้จะมานั่งบ่นไม่มีประโยชน์ นั่งด่าก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทุกคนต้องรีบช่วยกันแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดเพราะเป็นเรื่องของชาติ" นายพจน์
ทั้งนี้ สถานการณ์การผลิตสินค้าประมงในปัจจุบันถือว่าตกต่ำสุดขีดจากเมื่อ 10 ปีก่อน เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต โดยปริมาณทรัพยากรลดลงแต่ความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันต้องนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ทูน่า, ปลาหมึก จากต่างประเทศเข้ามาแปรรูป
ด้านนายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ เลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวประมงทำผิดกฎหมายมานานจนเคยชิน เพราะปัจจุบันมีเรือประมงที่ถูกกฎหมายเพียง 7 พันลำ หรือแค่ 16% เท่านั้น แต่ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งมีใบอนุญาตเครื่องมือจับสัตว์น้ำไม่ตรงกับความจริง ซึ่งต้องหาทางแก้ไขว่าจะทำอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประมงนอกน่านน้ำไทยมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 6-7 แสนตัน/ปี แต่ปัญหาขณะนี้เกิดขึ้นจากการออกกฎระเบียบตามมาในภายหลัง ซึ่งจะเป็นจุดจบของอุตสาหกรรมประมงไทย เพราะในความจริงแล้วแหล่งทรัพยากรเหล่านั้นถูกต่างชาติเข้าไปฉกฉวยจนสร้างความเสียหาย แต่เราเข้าไปช่วยพัฒนาให้คนท้องถิ่นนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องอาหารการกินและอาชีพ
นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง มองว่าการเริ่มบังคับใช้กฎหมายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการจัดระเบียบเรื่องเรือประมง, ลูกเรือ ตลอดจนเครื่องมือในการทำประมง ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการพิจารณาเรื่องแนวทางการฟื้นฟูสภาพทะเลและทรัพยากรสัตว์น้ำ ดังนั้นจึงอยากขอร้องให้ทุกคนร่วมมือกันจะได้ไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมประมงสร้างรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีได้เป็นจำนวนมาก
อนึ่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ค.58 รัฐบาลได้มีมาตรการเข้มงวดในการจับกุมเรือประมงที่ผิดกฎหมาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรป(EU) ถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกันยับยั้ง ขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) ซึ่งทำให้เรือประมงในหลายจังหวัดที่ยังไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้องต้องหยุดการออกเดินเรือ เนื่องจากเกรงจะถูกจับกุมจากทางการ