"มันมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่ใช่หยุดวันเดียวราคาพุ่งพรวด" นายจุมพล กล่าว
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีปริมาณสินค้าประมงที่ผลิตได้ในประเทศราว 3 ล้านตัน และนำเข้าอีก 1.6 ล้านตัน ขณะที่มีเรือประมงนอกน่านไทย 7 พันลำ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายราว 3 พันลำ
"สมมติว่า 3 พันลำออกเรือไม่ได้เลยทั้งปี สินค้าประมงจะหายไปราว 3 แสนตัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการเองก็คงไม่อยากจอดเรื้อทิ้งไว้เฉยๆ" นายจุมพล กล่าว
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้จะเป็นการจัดทำฐานข้อมูลเรือประมงทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลเดิมของกรมเจ้าท่าระบุว่ามีเรือประมงขึ้นทะเบียนไว้ทั้งสิ้น 42,051 ลำ แต่เป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีการปรับปรุง ครั้งนี้จึงเปิดให้เจ้าของเรือมาแสดงตัวต่อศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อที่รัฐจะให้หามาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป ซึ่งล่าสุดมีเจ้าของเรือมาแสดงตัวแล้ว 2.8 หมื่นลำ
"ครั้งนี้ให้มาแสดงตัวภายใน 31 กรฎาคมนี้ ใครที่ไม่มาแล้วจะให้รัฐช่วยเหลือเยียวยากันได้ยังไง" นายจุมพล กล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ยืนยันว่า ชาวประมงไม่ได้ก่อเหตุประท้วงต่อการดำเนินการของภาครัฐในครั้งนี้ แต่ที่เห็นเรือจอดทิ้งไว้เพื่อรอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ถูกต้องก่อน ซึ่งอยากขอให้กระทรวงแรงงานฯ เปิดให้บริการเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงาน เพราะในทางปฏิบัติมีปัญหาทางเทคนิค
"การขึ้นทะเบียนแรงงานประมงจะเปิดเป็นช่วงเวลา แต่ในทางปฏิบัติมีปัญหาเรื่องลูกเรือเปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ หากเรือลำใดมีลูกเรือไม่ครบก็ไม่สามารถที่จะหาลูกเรือมาทำแทนได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว