"ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ธนาคารอาจมีการทบทวนเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 6% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และหลังจากนี้ธนาคารจะเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดย 6 เดือนแรกได้ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่กลุ่มเอสเอ็มอีและฐานรากเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีสถาบันการเงินของรัฐ กระทรวงการคลัง และลูกค้ารายใหญ่ ชำระคืนเงินกู้รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทำให้มีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.75 ล้านล้านบาท" นายชาติชาย กล่าว
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในปัจจุบัน ธนาคารยอมรับว่า ได้รับผลกระทบจากความสามารถในการผ่อนชำระจากเกษตรกรลดน้อยลง ซึ่งส่งผลให้เอ็นพีแอลของธนาคารปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.08% จาก 1.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการค้างชำระเงินกู้ในสินเชื่อทุกประเภท อย่างไรก็ตามธนาคารได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหา โดยการออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเพียงดอกเบี้ยนาน 6-24 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 50,000 ราย วงเงิน 34,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น แต่ธนาคารยังคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 เนื่องจากปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้ายังคงเพิ่มขึ้นทุกประเภท ควบคู่ไปกับการเร่งประชาสัมพันธ์และทำการตลาดผลิตภัณฑ์สินเชื่อทีมีเงื่อนไขที่น่าสนใจ ตรงกับความต้องการของลูกค้า และปรับปรุงกระบวนการสินเชื่อให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมถึงปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐในโครงการต่างๆ และจากแผนการเข้าประมูลเงินกู้ภาครัฐ และให้กู้แก่รัฐวิสาหกิจ
ด้านปัญหาประมงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยืนยันว่า ธนาคารคงไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากธนาคารไม่ค่อยได้ปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจเหล่านี้มากนัก โดยปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ 60,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด
นายชาติชาย กล่าวถึง กรณีหากกรีซไม่สามารถชำระหนี้ได้ และมีความจำเป็นที่จะต้องออกจายูโรโซนนั้น มองว่า ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมาระยะหนึ่งแล้ว และเศรษฐกิจสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาได้ใจระดับหนึ่ง เช่น ลดพึ่งพาการส่งออกไปยังกลุ่มยูโรโซน และหันมาค้าขายกับเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เป็นต้น
ส่วนผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิกว่า 7,878 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,020 ล้านบาท ในด้านเงินฝาก มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่และกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อเตรียมสภาพคล่องสำหรับการปล่อยสินเชื่อ ได้แก่ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 7 เดือน เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 60 วัน เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือน และสลากออมสินพิเศษ 3 ปี ที่ยังเปิดรับฝากอย่างต่อเนื่องตลอด 6 เดือนแรกของปีนี้ โดย ณ 30 มิถุนายน 2558 มีเงินฝากรวม 2,019,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,935,415 ล้านบาท หรือขยายตัว จากสิ้นปี 3.41% ซึ่งธนาคารฯ ได้บริหารสภาพคล่องสอดคล้องกับแผนการปล่อยสินเชื่อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด ภายใต้ต้นทุนดอกเบี้ยและสภาพคล่องที่เหมาะสม
สำหรับ สินทรัพย์รวม ณ 30 มิถุนายน 2558 อยู่ที่ 2,321,768 ล้านบาท ด้านสินเชื่อ เนื่องจากมีสถาบันการเงินของรัฐ กระทรวงการคลัง และลูกค้ารายใหญ่ ชำระคืนเงินกู้รวมกว่า 50,000 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,757,285 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,771,665 ล้านบาท หรือลดลง 45,686 ล้านบาท แต่มีสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยให้แก่กลุ่มรายย่อย SMEs และฐานรากเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียม 6 เดือนแรก มีรายได้ค่าธรรมเนียม 2,219 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 108 ล้านบาท หรือขยายตัว 5.12 % ซึ่งมาจากการขยายธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์
นายชาติชาย กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558 ธนาคารฯ มุ่งเน้นในภารกิจหลัก ทั้งการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของสินเชื่อ Micro SME เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านสินเชื่อที่ให้วงเงินกู้และเงื่อนไขที่ผ่อนปรนเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย พร้อมทั้งการดูแลคุณภาพหนี้เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไป อีกทั้งภายใต้ภารกิจของธนาคารออมสินในการมุ่งส่งเสริมการออม และสร้างวินัยทางการเงินในภาคประชาชน ตลอดจนการขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก รวมถึงรองรับความต้องการเข้าถึงแหล่งทุนตามนโยบายรัฐบาล