รมว.พาณิชย์ เผยที่ประชุมฯมีมติกำหนด 6 มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็ก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 6, 2015 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืนว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทุกฝ่ายมีความร่วมมือแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานของการยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับการกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กมีความเชื่อมโยงในหลายมิติ และเป็นปัญหาสะสมต่อเนื่องมากว่า 30 ปี อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมเป็นแกนหลักในการให้ความช่วยเหลือ และเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันให้กับภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กทั้งสายอุปทานให้ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง รองรับกับสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ใน 6 มาตรการ ดังนี้

1. นับตั้งแต่ 1 มิ.ย.58 เป็นต้นไป กรมการค้าภายในได้กำหนดให้เหล็กเส้น, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ, เหล็กแผ่นรีดร้อน, เหล็กกล้าแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น เป็นสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List: SL) ซึ่งมีการติดตามราคาและสถานการณ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน

2. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อให้ลดการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์มายังประเทศไทย ซึ่งขณะนี้จีนได้ยกเลิกมาตรการคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้าเหล็กเจือโบรอนบางรายการแล้ว (คิดเป็นร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกมายังตลาดอาเซียน)

3. กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าสินค้าเหล็ก ณ ขณะนำเข้า โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า

4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์แผนการกำหนดหรือทบทวนมาตรฐานของสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน โดยยินดีจะรับฟังและพิจารณาข้อมูล/ข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

5. กระทรวงอุตสาหกรรม จะจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย และคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และเร่งศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ (โรงงานถลุงเหล็ก) ในไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ของไทย เช่น ผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ตั้งฐานการผลิตในไทยยินยอมให้ความร่วมมือทดสอบคุณภาพสินค้าเหล็กของไทย

6. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางและจัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กยังคงมีความขัดแย้งและเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ โดยเพิกเฉยต่อความถูกต้องในการดำเนินธุรกิจและผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เข้มแข็งต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเปิดใจรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และหันหน้าพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกของปัญหาที่ทุกภาคส่วนสามารถยอมรับได้ และกำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเดินหน้าเป็นคนกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคของประเทศต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ