อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนของการเจรจาในรอบนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงการกำหนดรายละเอียดของมาตรการรัดเข็มขัดเท่านั้น แต่ยังมีเงื่อนเวลาที่ทำให้รัฐบาลกรีซจำเป็นต้องเร่งหาข้อสรุปสำหรับแผนความช่วยเหลือรอบที่ 3 ให้ได้ก่อนวันที่ 20 ก.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่อยู่ในมือของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำนวน 3.5 พันล้านยูโร เพราะหากกรีซผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในส่วนนี้ ก็อาจทำให้ช่องทางความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉินที่ธนาคารพาณิชย์กรีซได้รับจาก ECB (หรือมาตรการ ELA) ปิดตัวลงไปโดยปริยาย ซึ่งเท่ากับว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ของกรีซคงไม่สามารถกลับมาฟังก์ชั่นได้อีกระยะหนึ่ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ณ ขณะนี้ มีความเสี่ยงมากขึ้นที่กรีซจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสำหรับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบที่ 3 กับกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปได้ทันเส้นตายการไถ่ถอนพันธบัตรที่อยู่ในมือของ ECB ได้ เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมืองของทั้งกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้มีความแตกต่างกัน รัฐบาลกรีซคงมีทางเลือกในการเจรจาที่จำกัด ขณะที่ กลุ่มเจ้าหนี้คงไม่สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ ให้กับกรีซได้มากนัก เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่า กรีซจะกลับมาทำตัวเป็นลูกหนี้ที่ดี และการผ่อนปรนให้กับกรีซในรอบนี้จะเป็นรอบสุดท้าย เหตุการณ์ในช่วงหลังจากนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า หาก ECB และบรรดาสมาชิกยูโรโซนสามารถประคองสถานการณ์ให้ผลกระทบต่อระบบการเงิน ค่าเงินยูโร และตลาดเงินตลาดทุน อยู่ในขอบเขตที่จำกัด และความเสี่ยงไม่ลุกลามออกไปยังสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ที่มีฐานะทางการคลังที่อ่อนแอ อาทิ สเปน อิตาลี และโปรตุเกสแล้ว กลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปคงเลือกที่จะรอให้เงื่อนเวลาเป็นตัวแปรกดดันกรีซ แต่สถานการณ์ดังกล่าว ก็จะส่งผลทำให้โอกาสที่กรีซจะอยู่กับยูโรโซนต่อไปลดน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ประเด็นที่ต้องระวังและจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงหลังจากนี้ ก็คือ รัฐบาลกรีซได้เตรียมทางออกของประเทศไว้ในลักษณะใด หากการเจรจากับเจ้าหนี้ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลง ทั้งนี้ หากมาตรการเฉพาะหน้าของรัฐบาลกรีซ คือ การพิมพ์เงินออกมาใช้เองแล้ว คงเป็นการยากที่จะทำให้สกุลเงินใหม่ หรือตราสาร IOUs นั้นๆ มีความน่าเชื่อถือหากปราศจากทุนสำรองระหว่างประเทศหนุนหลัง ขณะที่ ภาวะปั่นป่วนของระบบการเงิน การอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของสกุลเงินใหม่ของกรีซ และภาวะซบเซายาวนานของเศรษฐกิจกรีซ คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และที่สุดแล้ว กรีซก็อาจเดินตามรอยของอาร์เจนตินาที่ถูกโดดเดี่ยวจากตลาดการเงินโลกเป็นเวลานานนับปี ส่วนในด้านเจ้าหนี้ทางการนั้น ก็คงต้องทยอยรับรู้ความเสียหายของหนี้ที่เกิดขึ้นจากแผนความช่วยเหลือทางการเงินในปี 2553 และ 2555 ที่ผ่านมา และการด้อยค่าลงของพันธบัตรกรีซในส่วนที่อยู่กับ ECB และธนาคารกลางของประเทศสมาชิกยูโรโซน
สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น คงมีจำกัด เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศ (ส่งออก+นำเข้า) กับกรีซ ไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวม แต่กระนั้น ตลาดเงินตลาดทุนไทยคงต้องเผชิญกับภาวะผันผวนเป็นระยะตามสถานการณ์ที่ยังเปราะบางของกรีซ
"ผลการลงประชามติของประชาชนชาวกรีซที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดเพื่อแลกกับแผนความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่ นับเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สร้างข้อจำกัดให้การเจรจาระหว่างรัฐบาลกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปเหลือทางออกอยู่ไม่มาก ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่การเจรจาระหว่างกรีซกับฝ่ายเจ้าหนี้ประสบความล้มเหลว ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่กรีซจะต้องแยกตัวออกมาจากยูโรโซนไปโดยปริยาย ขณะที่ ทางการของสมาชิกยูโรโซนที่เหลืออีก 18 ประเทศ และ ECB เอง ก็จะต้องเตรียมรับมือกับบททดสอบครั้งสำคัญของระบบเงินยูโรโซน นอกเหนือไปจากการรับรู้ความสูญเสียของเงินกู้ที่ปล่อยให้กรีซไปแล้วกว่า 3.25 แสนล้านยูโร ดังนั้น ความเสี่ยงของกรีซคงเป็นความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกที่รออยู่ ซึ่งอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินบาทเป็นระยะๆ ตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้า" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ