(เพิ่มเติม) เอกชนยื่นประมูลข้าวสต็อกรัฐรอบ 4 รวม 1.1 ล้านตัน มูลค่า 1.1 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 7, 2015 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ตามที่คณะทำงานดำเนินการระบายข้าว ได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการค้าข้าวยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวสารในสต็อกของรัฐ ครั้งที่ 4/2558 ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก นาปี ปีการผลิต 2554/55 นาปรังปีการผลิต 2555 ปีการผลิต 2555/56 (รอบ 1 และ รอบ 2) และปีการผลิต 2556/57 แบบรายคลังสินค้าตามสภาพข้าวที่เก็บรักษา ในคลังสินค้ากลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 153 คลัง ประกอบด้วยข้าว 14 ชนิด ได้แก่ ข้าวขาว 5%, ข้าวขาว 10%, ข้าวขาว 15%, ข้าวขาว 25% เลิศ, ข้าวเหนียวขาว 10%, ข้าวท่อนปทุมธานี, ข้าวท่อนหอมมะลิ, ข้าวปทุมธานี, ข้าวปทุมธานี 5%, ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2, ปลายข้าวเหนียวเอวัน, ปลายข้าวขาวเอวันเลิศ, ปลายข้าวปทุมธานี และปลายข้าวหอมมะลิ ปริมาณรวมทั้งสิ้น 1.38 ล้านตันนั้น

การเปิดประมูลข้าวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ส่งออกและผู้ประกอบการโรงสี ทั้งรายเล็กและรายใหญ่แสดงความจำนงเข้าร่วมการประมูลจำนวนมาก โดยเมื่อวานนี้(6 ก.ค.) มีผู้ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ รวม 62 ราย และในวันนี้ ประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นทั้งสิ้น 62 ราย แต่ปรากฎว่ามีผู้มายื่นซองเสนอราคา จำนวน 55 ราย ใน 105 คลัง โดยมีผู้เสนอราคาที่ผ่านเกณฑ์มูลค่าขั้นต่ำ(Floor Value : FV) จำนวน 33 ราย 103 คลัง ปริมาณ 1.148 ล้านตัน(คิดเป็นร้อยละ 83 ของปริมาณที่เปิดประมูล) มูลค่าประมาณ 11,079 ล้านบาท และไม่ผ่าน FV ใน 2 คลัง โดยในครั้งนี้มีคลังที่ไม่มีผู้เสนอราคารวม 48 คลัง ทั้งนี้ ชนิดข้าวที่ขายได้มากที่สุดเป็นข้าวขาว 5% ปริมาณ 0.99 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 71 ของปริมาณที่เปิดประมูล

"การเปิดประมูลครั้งนี้ ที่มีผู้เสนอซื้อมากถึง 1.148 ล้านตันนั้น ถือว่าซื้อมากที่สุดจากการเปิดประมูลมา 8 ครั้ง เพราะขณะนี้ตลาดมีความต้องการข้าวจำนวนมาก จากคำสั่งซื้อยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลผลิตข้าวในตลาดน้อยลง จากปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้ข้าวนาปรังรอบ 2 มีผลผลิตออกมาน้อย และยังต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีปี 58/59 ออกไปอีก 1 เดือน ทั้งนี้ ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ สามารถเปิดประมูลได้แล้ว 8 ครั้ง ปริมาณรวม 3.88 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 40,948 ล้านบาท"นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว

ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศ จะรวบรวมผลการเสนอซื้อที่มีมูลค่าสูงสุดในแต่ละคลัง นำเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อพิจารณาผลการเสนอซื้อ ก่อนแจ้งผลการประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐอย่างเป็นทางการให้ผู้ชนะการประมูลทราบต่อไป

นางดวงพร กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดประมูลข้าวรอบต่อไปจะนำข้าวส่วนใดมาเปิดประมูลนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งผลสรุปข้าวส่วนใดมาให้ก่อน ซึ่งหากสรุปคดีข้าวเกรดซีได้ก่อน ก็จะข้าวเกรดซีมาขายให้กับภาคอุตสาหกรรม เช่น ผลิตเอทานอลก่อน แต่ทั้งหมดจะมีคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดราคากลางในการเปิดประมูลข้าวที่ต้องระบายออกไปให้ภาคอุตสาหกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดประมูลครั้งนี้ หากนบข.อนุมัติขายทั้งหมด 1.148 ล้านตัน มูลค่ารวม 11,079 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขายได้ตันละ 10,000 บาท จะทำให้ขาดทุนประมาณ 16,400 ล้านบาท จากต้นทุนราคาข้าวสารในสต๊อกที่ตันละ 24,000 บาท ตามราคาจำนำข้าวเปลือกที่ตันละ 15,000 บาท แต่หากรวมการประมูลทั้ง 8 ครั้ง ที่ขายข้าวได้ 3.88 ล้านตัน มูลค่า 40,948 ล้านบาท จะขาดทุนจากต้นทุนรับจำนำ 52,200 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าบริหารจัดการสต๊อก และค่าดอกเบี้ยต่างอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ