โดยกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์หลัก 3 ประเด็น คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าและบริการ ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการและยุทธศาสตร์ปฏิรูปการตลาดในส่วนของยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ ได้มีการกำหนด กลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ (5 Cluster)ที่ทำและตกลงร่วมกับประชาคมทุกพื้นที่ ทั้งภาคชุมชน ภาคธุรกิจ ภาคการบริหารส่วนท้องถิ่น ภาครัฐและเตรียมนำเสนอร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 5 เขต ให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยสาระสำคัญของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในแต่ละเขต มีดังนี้
(1) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา(เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, และพะเยา)มีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสู่ “การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาล้านนาเชิงสร้างสรรค์เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เชื่อมโยงไทย ลาว พม่าและจีน บนฐานความหลากหลายของทรัพยากรการท่องเที่ยว โดยเน้นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาล้านนา และการสร้างคุณค่าและมูลค่าจากทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
(2) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน(ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, ตรัง, และสตูล)มุ่งเน้น“การท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก บนฐานวัฒนธรรมอันดามัน”โดยมุ่งพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดกระบี่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงและกระจายนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งพัฒนาเมืองท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ตรัง และสตูลเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทางการแข่งขันได้ในระดับสากล ต่อยอดฐานและสร้างคุณค่าให้กับต้นทุนทางวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของอันดามันสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
(3) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ (นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, และอุบลราชธานี)มีเป้าหมายหลัก“การท่องเที่ยวแห่งวิถีชีวิตอีสานใต้ร่วมสมัย เชื่อมโยงลาว กัมพูชา และเวียดนาม”โดยการพัฒนายกระดับอารยธรรมอีสานใต้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทางการท่องเที่ยว พัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีสีสัน หลากหลายกิจกรรม เต็มเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของการท่องเที่ยว ที่ผสมผสานกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอีสานใต้ และการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
(4) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, และตราด)เน้น“การท่องเที่ยวชายทะเล สีสันตะวันออกระดับสากล ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงสู่นานาชาติ” โดยมุ่งพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยสีสัน กิจกรรม และเทศกาล เช่น ที่พัทยา สร้างให้เป็น Sport Destination ใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เน้นการเพิ่มคุณค่า ชายทะเลตราด เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดจนเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล
(5) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, และระนอง)มีเป้าหมายหลัก “การท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อสุขภาพชั้นนำของโลก”โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวและผู้สูงอายุ ยกระดับเป็นเมืองพักผ่อนเพื่อสุขภาพระดับสากล ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ และกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
สำหรับผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซและสถานการณ์การเงินยุโรปนั้น นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า สถานการณ์และสภาพแวดล้อม จากวิกฤตเศรษฐกิจของกรีซและกลุ่มประเทศอียูจะไม่มีผลกระทบกับการท่องเที่ยวไทย โดยยังเดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ให้ถึงเป้ารายได้ 2.2 ล้านล้านบาทในสิ้นปี 58 นี้ โดยดูจาก Forward Booking ของการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า เดือนก.ค. 58 เพิ่มขึ้น +43% , เดือนส.ค. 58 เพิ่มขึ้น +30% และเดือนก.ย.58 เพิ่มขึ้น +40% จากปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ได้มีการประมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพิจารณาแยกตามภูมิภาคจะเห็นได้ว่า สัดส่วนรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.75ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งสูงเป็นอันดับที่สอง โดยที่อันดับหนึ่งได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย 52.06 % (308,660.88 ล้านบาท)
สำหรับรายได้นักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป ในระหว่างเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม 2558 เท่ากับ 176.409.36 ล้านบาท ต่ำกว่าปี 2557 และปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 11.08 และร้อยละ 5.51 ตามลำดับ สำหรับประเทศที่ทำรายได้สูงสุดในกลุ่มยุโรป ได้แก่ รัสเซีย อังกฤษ เยอรมันฝรั่งเศส และ สวีเดน ตามลำดับ และหากค่าเงินอียูลดลงจะทำให้นักท่องเที่ยวมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความคุ้มค่ามากขึ้น
"ประเทศไทยเราจัดเป็น Luxury Affordable Destination ที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้มากกว่า เพราะมีสถานที่อันสวยงามตามธรรมชาติและวิถีไทย เรายังมีความพร้อมเรื่องการจัดประชุม การรักษาพยาบาล ความพร้อมด้านการกีฬา และสามารถเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจบริการอื่นๆ อีกมากมาย"
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยว วันที่ 1-5 กรกฎาคม 2558 มีจำนวน 381,229 คน ขยายตัวร้อยละ 38.66 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยนักท่องเที่ยว 2 อันดับแรกคือจีนและมาเลเซีย ขณะทีรายได้จากการท่องเที่ยวนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน (5 ก.ค. 58) มีรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว 1.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.06 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
จากจำนวนนักท่องเที่ยวในท่าอากาศยานหลัก 4 แห่ง ในวันที่ 1-5 กรกฎาคม มีการขยายตัวโดยเฉพาะท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 79.2 รองลงมาได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมืองสุวรรณภูมิ และภูเก็ต ที่ขยายตัวร้อยละ 74.8 ร้อยละ 47.2 และ ร้อยละ 27.8 ตามลำดับ