"ข้อเสนอต่างๆ ของภาคเอกชนนั้น นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะทำให้สำเร็จ แต่ขอให้ภาคเอกชนช่วยกันลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนนโยบายในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่งคือภาคเอกชน ซึ่งในเรื่องของสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ต่างๆ รัฐบาลได้เพิ่มเติมให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนซึ่งจะได้ประโยชน์สูงสุดเท่ากับเขตการส่งเสริมของบีโอไอที่อยู่ในพื้นที่ตอนในโดยเฉพาะจังหวัดยากจน หากอยู่ในพื้นที่บริเวณชายแดนก็จะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีอยากเห็นการลงทุนจากภาคเอกชนที่เป็นรูปธรรม" นายอาคม
ด้านนายอาคม กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแนวทางที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอให้การบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานการระบายน้ำทิ้ง การขออนุญาตระบายน้ำทิ้งของโรงงานออกสู่สิ่งแวดล้อม การควบคุมดูแลการประกอบกิจการ และการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของกฎหมายควบคุมน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบการตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิจารณาในรายละเอียด ทั้งในเรื่องรูปแบบขององค์กร หลักเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณ และการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งขอบเขตภารกิจของสถาบันให้ครอบคลุมทั้งการสนับสนุนในเชิงเทคนิค และผลิตภัณฑ์ โดยให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ยังเห็นชอบการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับรถยนต์ เนื่องจากมองว่า เครื่องปรับอากาศ ถือเป็นสินค้าประเภทไม่ฟุ่มเฟือย หากคงไว้ไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศได้ จึงควรจะยกเลิก โดยเตรียมออกเป็นพระราชกฤษฏีกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตทั้งระบบของกระทรวงการคลัง ที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ขณะที่นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคมกระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ พิจารณาความเหมาะสมในการใช้ที่ดินเขตป่าสงวนเพื่อพัฒนาจุดผ่านแดนห้วยโก๋น ในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่และด่านภูดู่ พื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ที่เชื่อมโยงไปประเทศลาว โดยคำนึงถึงขนาดความต้องการใช้พื้นที่ ความพร้อมของงบประมาณ บุคลากร ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมั่นคงของประเทศอย่างรอบด้าน โดยในระยะแรกให้เร่งแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ที่ทำการด่าน และถนนที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้ถูกต้องก่อน
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ มีมติให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) รับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณา และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง โดยไม่ผิดระเบียบของไอยูยู และไม่กระทบกับการทำประมงพื้นบ้าน
โดยภาคเอกชนได้ดำเนินใน 2 ส่วน คือ 1.การปรับปรุงกฏระเบียบ จะเร่งดำเนินการเรื่องขึ้นทะเบียนเรือประมงให้ถูกกฏหมาย ตามกฏอาชญาบัตรของIUU รวมถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาภายใน 1 เดือน และ 2.เป็นการดำเนินการภายใน ด้วยการแจกจ่ายสมุดบันทึกการทำประมง หรือ Log book และปรับเปลี่ยนนายท้ายเรือให้เป็นคนไทย ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงแรงงานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนเรือประมงพื้นบ้านที่มีประมาณ 3 หมื่นลำจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฏระเบียบบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตการออกไปจับสัตว์น้ำ โดยจะแก้ไขให้มีการเพิ่มประเภทการจับสัตว์น้ำให้กับเรือประมงมากขึ้ร
ส่วนนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม รับข้อเสนอของภาคเอกชน ไปพิจารณาปรับเพิ่มเติมในแผนพัฒนาท่าเรือของกระทรวงคมนาคม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ และเรือสำราญ โดยการพัฒนาท่าเทียบเรือให้มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่นท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และปรับปรุงกฏระเบียบ วิธีการและบุคคลากรให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับนานาชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
นายอาคม กล่าวว่า การส่งเสริมธุรกิจเรือท่องเที่ยวนั้น รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทางน้ำและเรือสำราญ ภายในปี 2558-2560 เป็น 8-9 แสนคน ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 3,600 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทางน้ำและเรือสำราญ ประมาณ 5 แสนคน รายได้อยู่ที่ 1,800 ล้านบาท โดยกระทรวงคมนาคมมีแนวทางแรับปรุงท่าเรือ เริ่มที่จังหวัดภูเก็ต สมุยและพังงา ตามลำดับ และเพิ่มการขุดร่องน้ำให้ลึกขึ้น จาก 9.5 เมตร เป็น11-12 เมตร เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่มากขึ้น