โดยตลอดทั้งปีนี้ คือ ทั้งรอบการปลูกข้าวนาปรังและนาปีคิดเป็นผลกระทบในภาพรวม 68,000 ล้านบาท โดยปัญหาภัยแล้งถือเป็นจุดเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นหากรัฐบาลจะเยียวยาให้เศรษฐกิจโดยรวมโตได้ในกรอบ 3.5% ก็จะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบถึง 70,000-100,000 ล้านบาท พร้อมกับการหามาตรการเยียวยาภาคเกษตรกรรมในชนบททั้งในกรณีเฉพาะหน้าและการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วย
ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกร 1,200 คน ตลอดจนเกษตรจังหวัด 62 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ชาวนาส่วนใหญ่กว่า 90% มองว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี 58 มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตและพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดกับเกษตรกรรายย่อยที่มีการทำนาน้อยกว่า 20 ไร่ และส่วนใหญ่เป็นการเช่าที่นามากกว่าเป็นเจ้าของนาเอง
โดยผลกระทบจากภาวะภัยแล้งมากสุดใน 5 เรื่อง คือ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น, ต้นทุนการหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น, ปริมาณผลผลิตลดลง, รายได้จากการทำการเกษตรลดลง และหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แนวทางการปรับตัวจากผลกระทบภัยแล้งที่ส่วนใหญ่เกษตรกรเลือกใช้ คือ การขอความช่วยเหลือจากรัฐ, หาอาชีพอื่นทดแทน, หาแหล่งน้ำอื่นทดแทน และย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมือง โดยสิ่งที่เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเร่งด่วนในขณะนี้ คือ การประกันราคาข้าว, การจ่ายเงินชดเชย และการลดต้นทุนการเกษตร ขณะที่รัฐบาลควรแก้ไขเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อเกษตรกรไทย คือ หามาตรการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร, การบริหารจัดการน้ำ, จัดอบรมเทคนิคทางการเกษตร, จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
ส่วนผลสำรวจความเห็นจากเกษตรจังหวัด 62 จังหวัด พบว่า ปัญหาภัยแล้งในรอบล่าสุดนี้ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตร 25 จังหวัด โดยความเสียหายเฉลี่ยที่ 35% หรือราว 1 ใน 3 ของพื้นที่โดยรวม และเป็นความเสียหายจากฝนทิ้งช่วงที่เกิดขึ้นในระหว่างการหว่าน และปักดำ ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายได้ในเดือนก.ย.ก็คาดว่าจะมีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายราว 10-12 ล้านไร่ คิดเป็น 12-15% จากพื้นที่โดยรวมทั้งหมดราว 60 ล้านไร่ หรือคิดเป็นจำนวนผลผลิตข้าวที่หายไป 4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท