"ปัจจุบันดำเนินการเจาะดินเพื่อก่อสร้างเสาเข็มแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนเสาเข็มทั้งหมด หรือประมาณ 640 ต้น คาดว่าจะเริ่มงานฐานรากอาคารกังหันไอน้ำและอาคารเครื่องผลิตไอน้ำได้ในเดือน ส.ค.58 โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 มีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ภายในวันที่ 13 พ.ย.61"นายวิวัฒน์ กล่าว
กฟผ.ได้เริ่มงานโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ตั้งแต่เดือน ม.ค.58 โดยมีกิจการค้าร่วม บริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม ประเทศฝรั่งเศส บริษัท อัลสตอม (ประเทศไทย) จำกัด และ มารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทคู่สัญญา และได้จัดพิธีลงเสาเข็มต้นแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 25 เม.ย.58
สำหรับโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใช้ถ่านหินลิกไนต์ภายในประเทศเป็นเชื้อเพลิงหลัก กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนกว่า 36,800 ล้านบาท เน้นลงทุนระบบอุปกรณ์เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ เครื่องกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนด้วยอุปกรณ์ SCR (Selective Catalyst Reduction) เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต และเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนถึง 8,250 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.41 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด
"โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้เทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง (Ultra-supercritical) ทำให้สามารถลดการใช้ถ่านหินจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 เดิม 13,536 ตันต่อวัน ลงเหลือ 8,504 ตันต่อวัน" นายวิวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมการปล่อยมลสารให้ดีขึ้น อาทิ การระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากปล่องโรงไฟฟ้าไม่เกิน 90 ส่วนในล้านส่วน (ppm vd) จากค่ามาตรฐาน 180 ส่วนในล้านส่วน (ppm vd) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน จากปล่องโรงไฟฟ้าไม่เกิน 90 ส่วนในล้านส่วน (ppm vd) จากค่ามาตรฐาน 200 ส่วนในล้านส่วน (ppm vd) และฝุ่นละอองแขวนลอยรวม (Total Suspended Particulate; TSP) จากปล่องโรงไฟฟ้าไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 80 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นต้น
"โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบตลอด 24 ชั่วโมง (Real-time) ผ่านระบบออนไลน์ ของกรมควบคุมมลพิษ จึงมั่นใจได้ว่า กฟผ. มีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าให้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานกำหนดตลอดเวลา" นายวิวัฒน์ กล่าว