(เพิ่มเติม) พพ.คาดเปิดรับซื้อไฟ FiT bidding 800 MW เข้า กพช.-ออก TOR ปลาย ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 9, 2015 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) คาดว่าจะสามารถเสนอโครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในระบบการคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบ FiT Bidding ราว 800 เมกะวัตต์ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)และออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอ(TOR)ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้

สำหรับพื้นที่ที่มีสายส่งพร้อมรองรับโครงการดังกล่าว ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งจะกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในช่วงปี 59-60

ส่วนโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จากสหกรณ์ คาดว่าจะเสนอให้ กพช.พิจารณาเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ(COD) ออกไป 1 ปี จากกำหนดเดิมในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.59 รวมทั้งพิจารณาว่าในจำนวน 800 เมกะวัตต์ที่กำหนดไว้เบื้องต้นนั้นจะรวมโครงการผลิตไฟฟ้าของหน่วยทหารราว 300 เมกะวัตต์ไปด้วยหรือไม่

"ปริมาณไฟฟ้าที่จะเปิดรับซื้อแบบ FiT Bidding หรือ Competitive Bidding ตัวเลขโดยประมาณอยู่ที่ราว 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบจาก กพช.ต่อไป ตัวเลขนี้เราพิจารณาจากความเป็นไปได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ทางกายภาพว่าช่องว่างของสายส่งที่พอจะไปลงได้ในช่วงปี 59-60 มีแค่ไหน จะเข้า กพช.ในปลายเดือนนี้เป็นหลักการ ก่อนที่จะออกประกาศเชิญชวนต่อไป"นายธรรมยศ กล่าว

นายธรรมยศ กล่าวว่า การเปิดให้ยื่นข้อเสนอ FiT Bidding คำนึงถึงความสามารถของสายส่งในแต่ละพื้นที่ที่เพียงพอรองรับได้ ซึ่งในช่วง 2 ปีนี้สายส่งทั่วประเทศจะรองรับได้อีกเพียง 800 เมกะวัตต์ ส่วนจะกำหนดพื้นที่และประเภทของเชื้อเพลิงอย่างไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับมติของ กพช.

แต่เบื้องต้นมองว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพของสายส่งรองรับมากที่สุดอยู่ในภาคตะวันตก รองลงมาเป็นภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ค่อนข้างมีข้อจำกัดของสายส่ง ขณะที่ประเภทเชื้อเพลิงที่จะเปิดรับซื้อรอบนี้ ให้ความสำคัญในส่วนของเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ และพลังน้ำเป็นหลัก

ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะนั้น เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะไม่มีการเปิดประมูล แต่พร้อมรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าโดยตรง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2558-2579(PDP 2015)จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะราว 550 เมกะวัตต์ภายในปี 79 ในส่วนนี้เป็นพลังงานจากขยะอุตสาหกรรมราว 50 เมกะวัตต์ ขณะที่ภายในปี 59-60 มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะราว 70 เมกะวัตต์ แต่ด้วยข้อจำกัดของสายส่ง ดังนั้น หากจะรับซื้อไฟฟ้าจากส่วนนี้ คงต้องหันไปลดการผลิตโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แทน

ทั้งนี้ ตามแผน PDP 2015 สิ้นสุดปี 79 ไทยจะมีการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานทดแทนราว 19,000 เมกะวัตต์ จาก 4,558 เมกะวัตต์ ณ สิ้นเดือนเม.ย.58 แต่เมื่อคิดเป็นกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ของกลุ่มพลังงานทดแทนไม่เกิน 50% ของกำลังการผลิตติดตั้ง ดังนั้น กฟผ.จึงยังมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานหลักเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามแผน PDP

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)จัดทำร่างประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ Feed-in Tariff ปี 58 ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding)กำหนดตารางเวลาออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจในช่วง 19-30 ต.ค.58 จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินในเดือนพ.ย.58 และประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกในเดือนธ.ค.58 คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในไตรมาส 2/59 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ภายใน 31 ธ.ค.60

เป้าหมายการรับซื้อจะลำดับความสำคัญของประเภทเชื้อเพลิง อัตราสูงสุดของราคารับซื้อไฟฟ้าในแบบ FiT รายละเอียดการยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ขั้นตอนและหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่ง กกพ. จะคำนึงถึงความพร้อมของเชื้อเพลิงและศักยภาพของระบบไฟฟ้า โดยกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจะใช้อัตรา FiT ตามที่ประกาศเป็นราคาเริ่มต้นในการแข่งขันทางด้านราคา ที่จะคัดเลือกจากข้อเสนอโครงการที่เสนอส่วนลดสูงสุดของอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ในส่วนคงที่เป็นลำดับแรก และจะเรียงลำดับตามส่วนลดที่เสนอตามศักยภาพของระบบไฟฟ้าแต่ไม่เกินตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

*เลื่อนโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ-สหกรณ์

นายธรรมยศ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ 800 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมกพช.ปลายเดือน ก.ค.นี้เช่นกัน โดยจะมีการเสนอเลื่อนกำหนด COD ออกไป 1 ปี จากกำหนดเดิมเดือน มิ.ย.59 ไปเป็นสิ้นเดือน มิ.ย.60 หลังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบหน่วยงานราชการและสหกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่ดินและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์ เป็นต้น คาดว่าการเลื่อนจ่ายไฟฟ้าของโครงการออกไปก็น่าจะทำให้ขยับช่วงเวลามาให้สอดคล้องกับปริมาณสายส่งใหม่ที่จะเข้ามารองรับเพิ่มขึ้นในอนาตต

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนถึงปริมาณการรับซื้อโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯในครั้งนี้ด้วย หลังจากในการประชุมรอบที่แล้วรมว.พลังงาน สั่งให้มีการศึกษาที่จะนำเอาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ของหน่วยงานในสังกัดกลาโหม ที่ได้มีการยื่นข้อเสนอไปก่อนหน้านี้ราว 310 เมกะวัตต์เข้ามารวมในโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯด้วย ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้อาจจะลดลงเหลือราว 500 เมกะวัตต์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกพช.

"ความจริงโครงการโซลาร์ส่วนราชการฯควรจะเกิดก่อน Bidding แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องระเบียบต่างๆทำให้ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งก็จะมีการเสนอเลื่อน COD ในการประชุมคราวนี้ด้วย ทำให้ช่วงเวลา COD ขยับมาใกล้กับช่วงเวลาการก่อสร้างสายส่งใหม่ของกฟผ.ที่จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ทั้งหมดในอนาคต"นายธรรมยศ กล่าว

ด้านนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.มีแผนใช้เงินลงทุนราว 3 แสนล้านบาทภายใน 5 ปีนี้ (ปี 58-62) เพื่อลงทุนสร้างสายรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าว โครงการจะเริ่มทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 61-62 ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผน PDP 2015 ที่จะมีมากถึงเกือบ 2 หมื่นเมกะวัตต์ได้ทั้งหมด จากปัจจุบันที่สายส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเต็มแล้ว ทำให้ไม่สามารถรองรับโครงการใหม่ๆเข้ามาได้ในช่วงปี 59-60 นี้ ขณะที่สายส่งทางภาคใต้เกือบเต็มแล้วเช่นกัน

สำหรับศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้น ปัจจุบันในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์จะมีกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ราว 30-35% ของกำลังการผลิตติดตั้ง,พลังงานจากชีวมวล และชีวภาพ อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกว่า 30% ส่วนพลังงานลม มีกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้น้อยที่สุดราว 5% ของกำลังการผลิตติดตั้งเท่านั้น ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนก็จะต้องพิจารณาทั้งในส่วนของพื้นที่ที่มีศักยภาพ,เชื้อเพลิงในการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับสมดุล โดยตามแผน PDP2015 ค่าไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่กว่า 5 บาท/หน่วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ