ส.อ.ท.เร่งช่วย SMEs เชิญชวนผู้ประกอบการร่วมโครงการคูปองนวัตกรรม เฟส 2

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2015 09:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชิญพร เต็งอำนวย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า โครงการคูปองนวัตกรรม เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ SMEs ไทย พัฒนาธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งในรูปแบบของสินค้า กระบวนการ หรือ บริการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs โดยมีกลไกให้ความช่วยเหลือ SMEs พัฒนานวัตกรรม ร่วมกับ ISP หรือ ผู้ให้บริการนวัตกรรมที่เป็นนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย หรือภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม โครงการคูปองนวัตกรรมผ่านการดำเนินงานในระยะที่ 1 มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2553 – 2555 โดยมีจำนวน SMEs เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นกว่า 680 รายทั่วประเทศ และมีผู้เชี่ยวชาญสมัครเข้าร่วมเป็น ISP จำนวน 832 ราย และสามารถผลักดันให้เกิดเป็นโครงการนวัตกรรมได้จริง จำนวน 277 โครงการ และช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากผลงานนวัตกรรมได้กว่า 1,252 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ

"ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ได้เริ่มดำเนินโครงการคูปองนวัตกรรมในระยะที่ 2 โดยได้ขยายความร่วมมือจากเดิมที่ทำงานร่วมกันเฉพาะ NIA และสภาอุตสาหกรรมฯ แต่ในเฟสที่ 2 นี้ เราได้เชิญ สภาหอการค้าไทยเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย และได้ปรับเพิ่มวงเงินสนับสนุนให้กับ SMEs ต่อโครงการให้สูงขึ้น คือ ไม่เกิน 1,500,000 บาท/โครงการ เพื่อนอกจาก SMEs จะได้นำเงินดังกล่าวไปพัฒนานวัตกรรมสำเร็จ และได้เป็นต้นแบบนวัตกรรมแล้ว ก็ยังสามารถมีเงินไว้สำหรับต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย โดยโครงการในเฟสที่ 2 นี้ ตั้งเป้าหมายโครงการเข้าร่วมไว้ 250 โครงการ ซึ่งน้อยกว่าในเฟสที่ 1 เนื่องจากเกณฑ์ในการพิจารณาค่อนข้างเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งเป็นการคัดกรองโครงการที่เน้นคุณภาพอย่างแท้จริงอีกทางหนึ่งด้วย" นายเชิญพร กล่าว

นายเชิญพร กล่าวว่า โครงการคูปองนวัตกรรม เฟส 2 ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในการพัฒนา และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อน โดยจุดเด่นของโครงการใน เฟสที่ 2 คือ มีการนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก SMEs และ ISP ที่เข้าร่วมโครงการในเฟส 1 มาปรับปรุงวางแผนการดำเนินงานโครงการเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อ SMEs มากยิ่งขึ้น อาทิ การแก้ปัญหากระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งหมด จะดำเนินการโดย NIA เพื่อความคล่องตัวและเป็นไปตามเกณฑ์ที่ถูกต้อง ส่วนสภาอุตสาหกรรมฯ จะมาเน้นในเรื่องคัดกรองโครงการ และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในเชิงวิชาการเป็นหลัก

ส่วนปัญหา ISP ที่เข้าร่วมโครงการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ ส่งผลให้บริการไม่ทั่วถึงนั้น ก็มีการวางแผนเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยหลักในแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นกำลังสำคัญในส่วนของ ISP ที่จะเข้าไปช่วย SMEs ในแต่ละภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง และที่สำคัญคือ ในเฟสที่ 2 นี้ โครงการมีแผนที่จะส่งเสริมต้นแบบนวัตกรรมที่น่าสนใจ ที่พัฒนาผ่านโครงการนี้ โดยจะส่งเสริมเชิงพาณิชย์ต่อเนื่อง ด้วยการพาผู้ประกอบการออกตลาดในกลุ่ม AEC

สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการนั้น SMEs ที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว จะต้องพัฒนา Concept Idea ส่งให้ทีมงานโครงการประเมินในเบื้องต้นก่อน หากผ่านการพิจารณาแล้วถึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ ส่วน SMEs ที่ยังไม่มี ISP ทางสภาอุตสาหกรรมฯ จะเข้าไปช่วย Matching ISP ให้ เนื่องจากเรามีฐานข้อมูล ISP จากเฟสเดิม จำนวน 800 กว่าราย และยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในแต่ละภูมิภาคด้วย และเมื่อ SMEs สามารถจับคู่กับ ISP ได้แล้ว SMEs และ ISP ต้องร่วมกันพัฒนา (ร่าง) Proposal เพื่อให้ทางทีมงานโครงการและผู้ทรงคุณวุฒิได้ Screen ความเป็นไปได้ของโครงการ ก่อนที่จะพัฒนา Proposal ฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติต่อไป

"ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับนั้น หากมองในมิติของ SMEs ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ช่วยยกระดับความสามารถของ SMEs สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ขยายตลาด หรือ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ เนื่องด้วย Trend การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน หันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน R&D และนวัตกรรมเป็นสำคัญ หาก SMEs เราไม่ปรับตัวก็ย่อมจะสูญเสียตลาดหรือลูกค้า ส่งผลต่อสภาพคล่องของกิจการได้ โครงการนี้จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยกระตุ้นให้ SMEs ตื่นตัวในการพัฒนาธุรกิจ โดย Model ที่เราสร้างขึ้นนั้น ไม่ได้ปล่อยให้ SMEs เดินเพียงลำพัง มีการกำหนดให้เกิด ISP เพื่อร่วมเป็นคู่คิดในการพัฒนานวัตกรรม อีกด้านหนึ่งก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มาสมัครเป็น ISP ได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งคาดหวังว่าจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อไป" นายเชิญพร กล่าว

นายเชิญพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการคูปองนวัตกรรม เฟส 2 ผ่านสภาอุตสาหกรรมฯ สภาอุตสาหกรรมฯ ยังมีโครงการต่อยอดให้กับ SMEs หลังจากการเข้าร่วมโครงการคูปองนวัตกรรม โดยหลังจากที่ SMEs พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ ยังคงส่งเสริมต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการต่อยอดสู่การผลิตจริงเชิงพาณิชย์ โดยเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับ สถาบัน SMI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมในหลากหลายมิติ อาทิ ส่งเสริมด้านการตลาด ผ่านโครงการสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards ส่งเสริมด้านแหล่งเงินทุน ผ่านความร่วมมือ ระหว่าง สภาอุตสาหกรรมฯ กับ สถาบันการเงินหลายแห่งในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับสินเชื่อด้านนวัตกรรม อาทิ SME Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs หรือ นักวิจัยภาครัฐ/มหาวิทยาลัย หรือผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมที่สนใจทุกท่านสมัครร่วม “โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะที่ 2" โดยเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ