ตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลงกว่า 33% ในช่วงเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ดัชนีราคาหุ้นเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนลดลงจากระดับ 5,000 จุดสู่ระดับ 3,342 (ดัชนีเปิดตลาดวันที่ 9 ก.ค.) จุดและคาดว่าจะปรับลดลงได้อีกอย่างน้อย 10-20% เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจปัญหาฟองสบู่ล้วนๆหรือเป็นการผสมโรงเพื่อโจมตีตลาดการเงินเพื่อเป้าหมายบางประการยังไม่อาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้ในขณะนี้ ทฤษฎีสมคบคิดเพื่อก่อความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจการเงินเพื่อเป้าหมายบางประการอาจยังเลื่อนลอยในขณะนี้แต่ไม่อาจละเลยได้ นักลงทุนและตลาดการเงินต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
แต่สัญญาณของฟองสบู่ได้ปรากฏชัดมาหลายปีแล้ว และมาตรการที่รัฐบาลจีนใช้อยู่เวลานี้เป็นเพียงมาตรการพยุงราคาหุ้นเฉพาะหน้า ไม่มีมาตรการระยะยาวในการปฏิรูปตลาดทุน โครงสร้างนักลงทุนในตลาดหุ้นมีสัดส่วนของรายย่อยชนชั้นกลางจำนวนมาก (นักลงทุนรายย่อย 200 ล้านคนคิดเป็น 85% ของผู้ซื้อขายในตลาดหุ้นจีน) การที่ราคาหุ้นลดลงมาอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นทำให้เกิด Negative Wealth Effect การบริโภคจะชะลอตัว การลงทุนจะชะลอตัว กระทบต่อยอดขายของสินค้าต่างๆทั่วโลกระดับหนึ่ง (นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นจีนน้อยกว่า 4%) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะทรงตัวในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง
กองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ ไทยที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีนประมาณ 17 กองทุนมีผลตอบแทนลดลงอย่างชัดเจนโดยเฉพาะผู้เข้าลงทุนในช่วงต้นปีในช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นจีนอยู่ขึ้นไปสูงสุด การลงทุนของกลุ่มทุนจีนสู่ไทยจะชะลอตัวลงเพราะกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาลงโครงการใหญ่เป็นกลุ่มทุนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้
วิกฤตการณ์ใหญ่ครั้งนี้สะท้อนว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกลไกตลาดและระบอบอำนาจนิยมภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์นั้นไม่สอดคล้องกัน ก่อให้เกิดวิกฤติและปัญหาเรื่องเสถียรภาพได้ การแสวงหากำไรอย่างเสรี กลไกตลาดไปด้วยกันไม่ได้กับระบบการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ กลไกตลาดไปกันได้ดีกับระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ระบบรวมศูนย์อำนาจภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางและการวางแผนการผลิตเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพียงปัจเจกชนรายใดรายหนึ่ง วิกฤติครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ทุนนิยมโดยรัฐสังคมนิยมแบบจีนมีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหน และ วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในจีนหลังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคสี่ทันสมัย (เติ้ง เสี่ยว ผิง)ช่วงทศวรรษ 1980 และ ยุคอภิวัฒน์ใหญ่จีนโดยพรรคคอมมิวนิสต์ (เหมา เจ๋อ ตุง) เมื่อ ค.ศ. 1949
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์จีนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องคิดเป็น 20% ของจีดีพีจีนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่แตก ภาคการเงินของจีนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เนื่องจากมีธุรกรรมนอกระบบจำนวนมาก มี off-balance sheets activities/transactions จำนวนมาก นอกจากนี้ Shadow Banking (ธนาคารเงา) ยังคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 43% ของจีดีพี ปัญหาธุรกรรมธนาคารเงา Shadow Banking ในจีนโดยเฉพาะตราสาร CDOs จะนำมาสู่วิกฤติคล้ายกับปัญหาวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯปี 2552 แต่จะมีระดับความรุนแรงน้อยกว่า ธุรกิจธนาคารเงาไม่มีการกำกับดูแลจากธนาคารกลางเข้มงวดเท่าธนาคารพาณิชย์ ตัวอย่างของ Shadow Banking ที่เกิดขึ้นในจีน กรณีกองทรัสต์ออกตราสารทางการเงินที่มีสินทรัพย์หรือลูกหนี้สินเชื่อหนุนหลังขายให้กับนักลงทุนรายย่อยและสถาบันซึ่งได้ผลตอบแทนสูงมาก โดยเฉพาะหนี้พวกนี้เป็นสินเชื่อหรือการลงทุนให้กู้แก่กิจการอสังหาริมทรัพย์ โครงการหรือบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น (ซึ่งหลายโครงการก็มีการทุจริตคอร์รัปชันมากภายใต้การบริหารงานแบบอำนาจนิยมไร้การตรวจสอบ) โครงการกิจการพลังงานขนาดใหญ่ เป็นต้น แหล่งรายได้ของกองทรัสต์ที่ออกตราสารแบบ CDOs (Collateralized Debt Obligations) มาจากคุณภาพในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าว ซึ่งเวลานี้คุณภาพของสินเชื่อเหล่านี้เสื่อมลงเรื่อยๆ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนปัจจุบันต่ำที่สุดในรอบ 24 ปี
การปรับตัวลดลงของสินทรัพย์ทางการเงิน การปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวังและการใช้ใช้นโยบายผ่อนคลายมายาวนานจนก่อให้เกิดการเก็งกำไรจำนวนมาก และ ไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง Shadow Banking แม้นมีประโยชน์ต่อระบบการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ต้องมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน (Systemic Risk) จากธนาคารเงา ธนาคารเงามีความเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ เช่น เป็นคู่สัญญากับธนาคารพาณิชย์เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงผ่านการทำธุรกรรม Securitization จึงต้องกำกับธนาคารเงาในเรื่องประเภทสินทรัพย์ที่ถือครอง เกณฑ์สภาพคล่องและการเปิดเผยข้อมูลการลงทุน
นายอนุสรณ์ ประเมินว่า ธุรกรรมของระบบสถาบันการเงินไทยและจีนมีอยู่ในระดับค่อนข้างสูง หากระบบสถาบันการเงินของจีนอ่อนแอลงย่อมส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้นว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและฐานะการเงินทั้งระบบของสถาบันการเงินไทยจะแข็งแกร่งอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกอีกประการหนึ่ง ก็คือ จีนเข้าไปลงทุนและถือหุ้นในหลายกิจการในสหรัฐอเมริกา จีนถือพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ถือเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจำนวนมากในทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน และเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯหากจีนมีปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินและจำเป็นต้องขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ ดอลลาร์ออกมาในตลาดการเงินโลกจำนวนมากในเวลาอันสั้นจะส่งผลต่อความผันผวนเศรษฐกิจการเงินโลกได้และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มูลค่าพันธบัตรลดลงและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผลกระทบทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีค่อนข้างมาก ทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วน 10-11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย (โดยมูลค่าส่งออกไทยไปจีนไตรมาสแรกปีนี้ติดลบ 14.4%) อัตราการขยายตัวของการนำเข้าของจีนจะไม่สูงเหมือนในอดีตเพราะจีนมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหันมาผลิตสินค้าในห่วงโซ่ภายในประเทศมากขึ้นหรือ เป็น Horizontal Integration มากขึ้นนั่นเอง นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการผลิตจีนจึงพึ่งพาการน้าเข้าสินค้าขั้นกลางน้อยลง มีการเปลี่ยนแปลงรสนิยมการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคในตลาดโลกจาก Notebook ไปเป็น Tablet และ Smartphone ส่งผลให้การส่งออก HDD ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกส้าคัญของไทยในกลุ่ม Re-Processing For Export หดตัวมาก ส่วนการลงทุนของจีนในไทยได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐกระทบน้อยเพราะเป็นการลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนระยะยาวและเป็นโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีผลกระทบอยู่บ้างคือการลงทุนในตลาดการเงินและการถือหุ้นที่เป็น Foreign Portfolio Investment
รายได้การท่องเที่ยวจีนเข้าสู่ไทยคิดเป็น 19% ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด โดยภาคการท่องเที่ยวไม่น่ามีผลกระทบมากนัก หากเศรษฐกิจจีนในภาพรวมชะลอตัวลงต่ำว่า 6.5% ในปีนี้ น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 3% แน่นอน ต้องใช้มาตรการแก้ไขโดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเต็มที่ เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่ และ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่า 1% จึงจะประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
นอกจากนี้ต้องระวังผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการไม่ระมัดระวังในการปฎิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เพราะสิ่งนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการคว่ำบาตรหรือแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยโดยอ้างเหตุผลเรื่องสิทธิมนุษยชน เราสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ได้ด้วยการดำเนินนโยบายสิทธิมนุษยชนอย่างระมัดระวัง ทั้งประเด็นสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และ เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย เช่น กรณีโรฮิงยา กรณีอุยกูร์ เป็นต้น
อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า จีนเกินดุลชำระเงิน เกินดุลการค้าจำนวนมากต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางของจีนต้องซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินหยวน ทำให้เงินหยวนเพิ่มขึ้นในระบบอย่างต่อเนื่องแม้นธนาคารกลางจะดูดซับออกแต่ไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดการสะสมของฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างต่อเนื่อง เมื่อเผชิญกับภาวะช็อคในระบบเศรษฐกิจจึงหลีกเลี่ยงความผันผวนอย่างรุนแรงทั้งขึ้นและลง (Boom and Bust Cycle) ยาก หากเศรษฐกิจฟองสบู่จีนแตก เราอาจจะได้เห็นปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี 2540 เกิดซ้ำรอยขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเราอาจเห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้