"ผลสำรวจภาวะการครองชีพล่าสุดในเดือน มิ.ย.58 สะท้อนว่าบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนยังน่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางต่อเนื่อง เพราะครัวเรือนในหลายภาคส่วนล้วนมีความกังวลมากขึ้นต่อทุกๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ราคาสินค้า รายได้ เงินออม รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยสัญญาณล่าสุดจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2558 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้าและเปราะบาง รวมถึงสถานการณ์การบริโภคภาคครัวเรือนที่ซบเซา โดยครัวเรือนในหลายๆ ภาคส่วน มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะยังคงมีปัญหาด้านกำลังซื้อและรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรก็อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ลากยาวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน
ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานและรายได้ที่ฟื้นตัวล่าช้า รวมถึงภาระหนี้สินของครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง จะยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันปัญหาค่าครองชีพและบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งทำให้ คาดว่า แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2558 อาจขยายตัวเพียง 1.7% ซึ่งต่ำจากคาดการณ์เดิมที่ขยายตัว 2.0%
นอกจากนี้ มุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าของครัวเรือนทั้งในกลุ่มที่มีรายได้ประจำและรายได้ไม่ประจำ ยังคงสะท้อนความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อประเด็นค่าครองชีพ ทั้งด้านสถานการณ์ราคาสินค้า รายได้ เงินออม ภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน ซึ่งทำให้ประเมินว่า ความเชื่อมั่นในระดับครัวเรือนกำลังอยู่ในภาวะที่เปราะบางและมีความอ่อนไหวมากขึ้นต่อทุกสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังคงเลื่อนเวลาออกไป และในที่สุดก็อาจส่งผลทำให้ครัวเรือนยังคงรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำ แต่มีภาระหนี้ค่อนข้างสูง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยมีปัญหาใหญ่ที่กำลังเผชิญคือ การฟื้นตัวที่ล่าช้าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ สัญญาณการแผ่วตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยคงต้องยอมรับว่า การฟื้นตัวของรายได้และกำลังซื้อที่เป็นไปอย่างช้าๆ ในขณะนี้ยังคงไม่สามารถหักกลบหรือชดเชยภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่ครัวเรือนหลายๆ ส่วน ทั้งในส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้ประจำและครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำแบกรับไว้อยู่แล้วในขณะนี้