ค่ายรถยนต์ห่วงบาทแข็งกระทบยอดส่งออก ฝากรัฐดูแลที่ระดับ 33.50-34.00 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 13, 2015 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังหารือกับประธานบริษัท BMW Group Thailand, ประธานบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์(ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดว่า ผู้บริหารทั้ง 3 บริษัทเป็นห่วงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท หากแข็งค่าเกินไปจะทำให้การผลักดันการส่งออกภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งต้องการให้ภาครัฐรักษาระดับของค่าเงินบาทให้แข่งขันได้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยค่าเงินบาทที่ไม่เป็นภาระต่อการส่งออกอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้จากการหารือกับทั้ง 3 บริษัทแล้วตกลงกันว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้บริหารระดับเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ของบริษัทนั้นๆ โดยจะประชุมหารือผลักดันการส่งออกในกลุ่มของตัวเอง และจะมีการประเมินทุกๆ 3 เดือน และในสัปดาห์นี้กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้บริหารของกลุ่มค่ายรถยนต์ คือ มิตซูบิชิ มอเตอร์, ฮอนด้า, อิซูซุ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์, บริษัท Rohm Western Digital มาหารือในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน โดยได้ขอให้บริษัทรายใหญ่ทั้งหมดเสนอแผนงานที่จะผลักดันการส่งออกและอุปสรรค ซึ่งในส่วนของอุปสรรคจะเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการส่งออกแห่งชาติ(บอร์ดส่งออก) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบเพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ส่งออกต่อไป

รายงานข่าว แจ้งว่า การเชิญผู้บริหารค่ายรถยนต์มาหารือเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้นมา แบ่งออก 4 กลุ่มหลัก ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 57% ของมูลค่าการส่งออกภาพรวม ได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, วัสดุก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์ยาง, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ โดยจะผลักดันมูลค่าการส่งออกช่วง 7 เดือนที่เหลือเพิ่มขึ้นอีก 53,600 ล้านเหรียญสหรัฐ จากในช่วง 5 เดือนที่ส่งออกได้ 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ได้แก่ ข้าว, อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป, ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป, น้ำตาล, ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ต้องเพิ่มอีก 12,400 ล้านเหรียญฯ จากช่วง 5 เดือน 7,575 ล้านเหรียญฯ 3.กลุ่มสินค้าปิโตรเคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 6,292 ล้านเหรียญฯ และ 4.กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำ ต้องเพิ่มอีก 5,000 ล้านเหรียญฯ จาก 3,000 ล้านเหรียญฯ และสินค้าอื่นๆ ที่ต้องทำเพิ่มอีก 60,700 ล้านเหรียญฯ จาก 38,700 ล้านเหรียญฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ