นายพสุ กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงงานเข้าสู่ระบบกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องแล้ว 7% หรือประมาณ 5,300 โรง จากโรงงานที่มีการแจ้งประกอบกิจการแล้วทั้งหมด 68,000 โรง ซึ่งพบว่ากากอันตรายได้ถูกจัดการเข้าระบบอย่างถูกต้องประมาณ 1 ล้านตัน จากปริมาณกากอันตรายทั้งหมดประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ส่วนกากไม่อันตรายได้ถูกจัดการเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องปีละ 13 ล้านตัน จากปริมาณกากไม่อันตรายทั้งหมด 50 ล้านตัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการไม่ต่อใบอนุญาตโรงงานให้กับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรม ถือเป็นมาตรการที่จะดึงให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี หรือ พ.ศ. 2562
ปัจจุบันสถานการณ์การกระจายตัวของโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากและโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากทั่วประเทศพบว่ามีสัดส่วนประมาณ 40:1 หากมองในระดับภูมิภาค ภาคตะวันออก มีสัดส่วน 12:1 ภาคกลาง 44:1 ภาคตะวันตก 65:1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 101:1 ภาคเหนือ 102:1 และ สุดท้ายคือภาคใต้ 121:1 พบว่ามีปัญหาเรื่องโรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากไม่เพียงพอมากที่สุด และเพื่อรองรับอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณกากอันตรายปีละ 3 ล้านตัน ไม่อันตรายปีละ 50 ล้านตัน กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้เร่งทำการศึกษาปริมาณของกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด ให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงการศึกษาด้านโลจิสติกส์ของกากอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุดในการวางแผนจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอในอนาคต
ทั้งนี้ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสม โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558 นี้ ในเบื้องต้น ผลการศึกษาระยะแรก (บนพื้นฐานของข้อมูลการขนส่งกากปี 2557) พบว่า ประเทศไทยควรจะต้องมีพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออก หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด สำหรับกากอันตราย พบว่า จังหวัดที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ได้แก่ นครราชสีมา ลำพูน ระยอง ปราจีนบุรี ปทุมธานี อยุธยา และ อ่างทอง สำหรับกากไม่อันตราย พบว่า จังหวัดที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมฯ ได้แก่ ลำปาง และ ระยอง
เมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำการศึกษาครบทั้ง 3 ระยะแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำข้อมูลไปพัฒนานิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ซึ่งรูปแบบของการพัฒนามีได้หลายรูปแบบ เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาเอง หรือร่วมมือกับเอกชนที่สนใจในการพัฒนาก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ภาครัฐและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เตรียมมาตรการส่งเสริมให้โรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร จะได้สิทธิประโยชน์สูงสุดทั้งสิทธิประโยชน์ในรูปแบบทางภาษีและไม่ใช่รูปแบบทางภาษี รวมถึงกระทรวงพลังงานเตรียมให้เงินอุดหนุนกับโรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจและเตรียมความพร้อมให้กับนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรของไทยในอนาคต