สำหรับการส่งออกทั้งปี 58 คาดว่าน่าจะติดลบที่ 3.8% มีมูลค่า 218,896 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 6 ปีนับจากปี 53
"หากจะทำให้ทั้งปีขยายตัวได้ 1% ในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปีนี้จะต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,158 ล้านเหรียญฯ แต่ถ้าจะให้ได้ 0% ต้องส่งออกให้ได้ที่ 19,8000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งสถิติย้อนหลังมีโอกาสเป็นไปได้แค่ 30% เท่านั้น แต่ถ้าติดลบที่ 3.8% อีก 7 เดือน มูลค่าต้องอยู่ที่เดือนละ 18,516 ล้านเหรียญฯ" นายอัทธ์ กล่าว
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกปีนี้มีแนวโน้มติดลบสูง เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางชะลอตัว จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา ปัญหาหนี้ของประเทศกรีซ ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาดยุโรป ปัญหาที่จีนใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น จนส่งผลให้จีนชะลอการนำเข้าและกระทบต่อการส่งออกของไทย ปัญหาราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ และปัญหาภัยแล้งที่กำลังเป็นปัญหาใหม่ต่อการส่งออก
สำหรับตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง หลายตลาดยังติดลบต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น ติดลบ 2.4% สหภาพยุโรปลบ 2.2% จีนลบ 7.1% ขณะที่มีหลายตลาดที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.1% ฮ่องกง 3.3% อเมริกาใต้ 2.8%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาส่วนแบ่งตลาด พบว่า ในปี 57 อาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) มีส่วนแบ่งตลาด 1.12% เพิ่มขึ้นจาก 0.97% ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่ง 1.33% ลดลงจาก 1.36% ซึ่งมูลค่าการส่งออกของอาเซียนใหม่ที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ เวียดนาม ปี 57 มีมูลค่าส่งออกทั่วโลก 153,000 ล้านเหรียญฯ จากปี 47 ที่มีมูลค่า 18,000 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ไทยมูลค่าส่งออก 227,000 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจาก 96,000 ล้านเหรียญฯ ชี้ให้เห็นว่าไทยมีแนวโน้มเสียตลาดให้อาเซียนใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เน้นแรงงานเป็นหลัก