นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังได้หารือกันถึงโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ทั้งการลงทุนเรื่องถนน รถไฟ รถไฟฟ้า ประปา ว่าเรื่องใดสามารถดำเนินการได้ก่อนหรือหลัง หากเรื่องใดทำได้และงบประมาณเพียงพอก็ต้องดำเนินการ แต่ถ้ายังมีปัญหาก็ต้องชะลอไว้ก่อน เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนไทยต้องมองในภาพรวมของประเทศว่าหากไม่มีการดำเนินการโครงการต่างๆ หรือการลงทุนใดๆก็จะไม่มีรายได้เพิ่ม ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมการลงทุน ทั้งหาตลาด การปรับปรุงคุณภาพ นวัตกรรม เพื่อให้แข่งขันได้ โดยเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการทำให้มูลค่าการส่งออกสูงขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาในหลายระบบ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการแก้ปัญหาการเกษตร แต่สิ่งที่กังวล คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถอยู่ได้
ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า แหล่งเงินในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 55,620 ล้านบาท โดย 2 เส้นทางนี้จะใช้งบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนการก่อสร้าง ครม.เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังเป็นรับผิดชอบการกู้เงิน โดยจะดำเนินการระหว่างปี 59-62
และ สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 20,200 ล้านบาท จะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ก่อสร้างประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกประมาณ 6,000 ล้านบาทจะใช้งบประมาณแผ่นดิน ระยะดำเนินการระหว่างปี 58-61
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุดน่าจะสามารถดำเนินโครงการได้ก่อน เนื่องจากได้บรรจุค่าเวนคืนจำนวน 1,4000 ล้านบาทไว้งบประมาณปี 2558 และภายในปลายปีนี้หรือไม่เกินต้นปีหน้าจะประกาศประกวดราคาก่อสร้างได้ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างทั้ง 3 เส้นทาง
นอกจากนั้น ยังมั่นใจว่ามอเตอร์เวย์ทั้ง 3 เส้นทางจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการจะมีผลตอบแทนรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางกลับคืนมาตั้งแต่ปีแรก และคาดว่าภายในระยะเวลา 30 ปีจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 60% ที่สำคัญผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจจะสูงถึง 14-19% ของ GDP