ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(อพม.) บ้านพักเด็กและครอบครัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั่วประเทศ รวมทั้งสำนักงานเขตดำเนินการประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ให้มาเข้าร่วมโครงการ และให้ดำเนินการเตรียมการเรื่องการดูแลและติดตามจ่ายเงินอุดหนุนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์และมีกำหนดที่คลอดบุตรในช่วงดังกล่าว สามารถมาลงทะเบียนใช้สิทธิ์ได้ โดยมีเอกสารที่ควรเตรียมได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก สูติบัตรเด็กแรกเกิด(นำมายื่นหลังจากคลอดบุตร) และแบบรับรองสถานะครัวเรือน และใบลงทะเบียนรับรองสิทธิ โดยในต่างจังหวัดดำเนินการผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล และ อบต. และในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นที่สำนักเขตตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับการสนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
“เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้คือ การสนับสนุนให้คุณแม่ได้ดูแลสุขภาพบุตรอย่างเป็นมาตรฐาน เพราะจะต้องนำบุตรไปตรวจร่างกาย รับวัคซีนให้ครบถ้วนตามช่วงอายุด้วย จึงจะได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 400 บาทต่อเดือนทุกเดือน จนทารกอายุครบ 1 ปี อีกทั้งการนำบุตรไปพบแพทย์จะทำให้คุณแม่ได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพอนามัยและการเลี้ยงดูบุตรไปในตัว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ส่วนเงินอุดหนุนเป็นเพียงผลพลอยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น"
พล.ต.สรรเสริญ คาดว่าจะมีเด็กแรกเกิดประมาณ 135,768 คน ในโครงการ และหลังจากจบโครงการจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการอีกครั้ง เพื่อประเมินความเหมาะสมในการดำเนินโครงการในระยะต่อไป
ทั้งนี้ในเบื้องต้น คุณสมบัติของครอบครัวที่จะได้รับเงินอุดหนุนคือ มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ ในครอบครัวมีคนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีในปกครอง เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น