ทั้งนี้ บล.ภัทรได้มีการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่ 3.3% เนื่องจากปัจจัยลบ ภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว การบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่อาจจะมีผลกระทบไปถึงปี 59
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐออกมาได้ค่อนข้างดี ประกอบกับ ภาคการท่องเที่ยวยังมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้น ช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทยได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัจจัยภายนอกที่น่ากังวล คือ ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว และตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงอย่างมาก ธนาคารจีนยังคงมีความเป็นห่วง และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็อาจใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการเข้าแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
"หากจีนมีการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและลดค่าเงินหยวนให้อ่อนลง เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แต่ยังไงเศรษฐกิจไทยก็ยังโตได้ราว 2% คงไม่ต่ำไปกว่านั้น"นายศุภวุฒิ กล่าว
สำหรับการลงทุนในตลาดทุนนั้ นายศุภวุฒิ แนะนำว่า นักลงทุนไม่ควรถือสินทรัพย์ระยาวยาวมากเกินไป เช่น ตราสารหนี้ระยะยาว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของอัตราดกเบี้ยและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลงทุนและผลตอบแทนในอนาคต ส่วนอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทในประเทศไทย (EPS Growth)ในปีนี้ทาง บล.ภัทรอยู่ระหว่างการปรับคาดการณ์ หลังจากมีปัจจัยลบเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ช่วยเศรษฐกิจไทยได้ดี คือ การเร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐที่จะต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณออกมาใช้ ประกอบกับ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งกระทบโดยตรงต่อการบริโภค
ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสถานบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังไม่ค่อยดีนัก เพราะตัวขับเคลื่อนหลัก เช่น การส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศ ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีนัก ทำให้การส่งออกลดลง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังไม่กลับมาทำให้การลงทุนชะลอตัว ขณะที่ปัญหาภัยแล้งกระทบการบริโภคในประเทศ
ปัจจัยที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างดี คือ การลงทุนภาคเอกชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก เพราะภาคเอกชนในปัจจุบันถือว่ามีศักยภาพ มีโอกาส และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรง ประกอบกับธนคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีสภาพคล่องที่มาก พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อ แต่ภาคเอกชนยังขาดความเชื่อมั่น จึงอยากให้ภาครัฐมีการจัดทำแผนงานที่ชัดเจนในโครงการที่ภาครัฐจะลงทุนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาระดับหนึ่ง ประกอบกับ ภาครัฐต้องมีนโยบายเข้ามาสนับสนุนและกระตุ้นภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น นโยบายลดหย่อนภาษีการลงทุนทั้งเอกชนในประเทศและเอกชนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน เป็นต้น
"รัฐบาลควรหันมาส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น เพราะตอนนี้เอกชนเรามีศักภาพแมีโอกาสมาก แบงก์ก็มีสภาพคล่องเยอะ เขาพร้อมจะปล่อยสินเชื่อ อยากให้รัฐมีการลดหย่อนภาษีการลงทุน เพื่อช่วยกระตุ้นและเป็นลูกกระสุนสำคัญ ดีกว่าไปขึ้นภาษีที่เป็นสิ่งที่กดดัน และยังไม่จำเป็นในเวลานี้ เพราะฐานะการคลังเรายังดีอยู่"นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามนอกเหนือจากปัญหาของกรีซ คือ เศรษฐกิจจีนที่ยังคงเป็นคำถามใหญ่ว่าภาพในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะมีตัวแปรมาก ประกอบกับ หนี้สาธารณะของจีนในช่วงในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาสูงสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 200% ต่อGDP จากในช่วง 7-8 ปีก่อนที่ 150% ต่อ GDP ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ทำให้จีนมีโอกาสสะดุด และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย
"จีนค่อนข้างมีอิทธิพล ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนสะดุดจริงจะมีผลต่อการบริโภคที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์จะมีการบริโภคลดลงและราคาจะปรับตัวลดลงตาม ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลก หรือมีสัดส่วนการบริโภคที่ 40% ของการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก นอกจากนี้จะมีผลกระทบที่เป็นห่วงโซ่ต่อการท่องเที่ยวไทยที่ปัจจุบันมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากจีนมากที่สุด ก็มีโอกาสลดลง"นายเศรษฐพุฒิ กล่าว