หลังจากนั้นหากสถานการณ์ยังคงวิกฤติก็จะมีมาตรการอื่นออกมาช่วยเหลือต่อไป โดยเฉพาะชาวนาที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ คงจะต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้มาตรการเดิมที่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทหรือไม่
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการปรับโครงสร้างลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด ปรับเปลี่ยนชนิดพืช โดยจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมากขึ้น
ส่วนกรณีคณะรัฐมนตรีวานนี้มีมติสั่งโยกย้ายนายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น นายปีติพงศ์ กล่าวเพียงว่า เรื่องนี้คงต้องไปถามจากพล.อ.ดาว์พงศ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอง
นายปีติพงษ์ ยอมรับว่า จำเป็นต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ถึงกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องขอความร่วมมือไม่ให้นำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร เนื่องจากสัดส่วนของน้ำที่จะนำไปใช้เพื่อการเกษตรหมดแล้ว จึงจำเป็นต้องสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และการผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งในส่วนนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชนในกรุงเทพฯ มากกว่าความเดือดร้อนของเกษตรกรในต่างจังหวัด
"เราต้องทำความเข้าใจทุกฝ่าย ผมเห็นว่าน้ำกินน้ำใช้ กับน้ำสิ่งแวดล้อม เป็นน้ำก้อนเดียวกัน ในแง่น้ำสิ่งแวดล้อม(การผลักดันน้ำทะเล) ต้องการน้ำที่จะส่งลงมาจากตอนบน เพราะถ้าปล่อยให้ความเค็มมากไป เรือกสวน ไร่นา ไม้ยืนต้นทั้งหลายก็มีผลกระทบเช่นกัน ทั้งสวนทุเรียน กล้วยไม้ และน้ำจะเค็มมีผลต่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้นมันเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และน้ำที่ทุกคนต้องกิน ไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ ที่จะได้รับผลกระทบ แต่ในจังหวัดที่น้ำเดินทางผ่านมาทั้งหมด การประปาจังหวัดต่างๆ ก็ใช้น้ำจากต้นทุนเดียวกัน ตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมา" รมว.เกษตรฯ กล่าว
ทั้งนี้ การขอความร่วมมือดังกล่าว เป็นการมองไปถึงหน้าแล้งในเดือนเม.ย.59 เพราะหากน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตรหมดแล้วก็จะยิ่งได้รับผลกระทบกันหนักมากกว่านี้
"ดังนั้นต้องมีสักวันที่หยุด และให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จะเจ็บกันมากกว่านี้ นอกเสียจากว่าจะมีฝนตกลงตกมาก" นายปีติพงศ์ ระบุ