"หม่อมอุ๋ย"แนะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์หวังหนุน GDP ปีนี้โตได้ถึง 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 16, 2015 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เดินหน้าประเทศไทย...เดินหน้าท่องเที่ยวไทย"ว่า ปีนี้ภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อได้ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้เติบโตไม่ถึง 3% ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตถึง 28% โดยรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 12% ของ GDP
"ปีนี้ชื่มชมกระทรวงท่องเที่ยว ตั้งใจทำหลายอย่าง แต่ที่เลือกการท่องเที่ยววิถีไทย เหมาะสมกับเปิดศักราชการท่องเที่ยงเชิงประวัติศาสตร์มากขึ้น และได้มีปฏิทินท่องเที่ยวทั้งปี ตอบสนองความต้องการหลากหลาย"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ในอดีตเราเคยอาศัย Sun Sand and Sea เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย แต่ในระยะหลังเริ่มเห็นพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชื่นชอบประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมมากขึ้น ทั้งสถานที่ประวัติศาสตร์ในกรุงเทพและต่างจังหวัด

"ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากตะวันตก สนใจเข้ามาท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์มากขึ้น จึงอยากให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ เสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสิ่งสำคัญคือการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งต้องดีด้วย ซึ่งระบบคมนาคมที่รัฐบาลประกาศจะทำนั้น ไม่ได้ทำเพื่อขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ทำเพื่อการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับต่างประเทศจะดีขึ้น โดยภายในช่วง 3-4 ปีนี้จะเริ่มเห็น เช่น รถไฟไทย-จีน เชื่อมหนองคายมากรุงเทพ และ จากแก่งคอยลงมามาบตาพุด ที่มีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอีกมาก

ทั้งนี้ การจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนจะต้องให้ความสำคัญกับหลายปัจจัย คือ 1.สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากร สร้างสมดุลของสิ่งแวดล้อม 2.สร้างความพึงพอใจให้นักท่องเที่ยว เช่น คุณภาพของการบริการที่ดี เช่นคุณภาพโรงแรม คุณภาพของอาหาร คุณภาพของมัคคุเทศก์ คุณภาพของร้านค้าไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว

3.รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยให้ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลการท่องเที่ยวที่ครบและชัดเจน เช่น โรงแรมที่สะอาดและปลอดภัย ร้านอาหารอร่อยและสะอาด ถ้าเรามีข้อมูลการท่องเที่ยวที่ดีให้นักท่องเที่ยวจะทำให้มาตรฐานการท่องเที่ยวของไทยขยับขึ้นมาอย่างดื้อๆ นอกจากนี้ต้องไม่ลืมเรื่องการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพห้องสุขาด้วย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ตอบข้อซักถามผู้ประกอบ SMEs ด้านโรงแรมในเรื่องขอให้ลดดอกเบี้ยว่า ไม่ต้องไปกังวลเรื่องดอกเบี้ย เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ดอกเบี้ย

"แค่พวกคุณเลิกตัดราคากันเอง ในแต่ละพื้นที่มันมีวิธีแก้ปัญหาแน่นอน ตรงนี้ผู้ประกอบการต้องจับเข่าคุยกัน"

ส่วนปัญหาโรงแรมที่ทำผิดพ.ร.บ.การโรงแรมที่ขณะนี้ทั้งเรื่องความปลอดภัย จากการสำรวจเฉพาะพื้นที่พัทยา โรงแรมที่เปิดบริการมีทั้งหมด 1,200 โรงแรม เป็นโรงแรมที่ถูกกฎหมายมีจำนวน 400 โรงแรม จำนวนห้องพักที่ถูกกฎหมายมีไม่ถึง 4 หมื่นห้อง ขณะที่ห้องพักเปิดขายใน Agoda หรือในเว็บไซต์ Booking.com มีถึง 130,000 ห้อง ยังไม่รวมคอนโดหรืออพาร์ทเม้นท์ ที่แอบขายห้องพักรายวันทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายทำให้ระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ไม่เพียงพอ อาจจะกระทบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวสั้นๆว่า จะรับไปดูแลให้

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ออกมาแล้วรอเข้า ครม.โดยจะนำเข้าไปรวมกับยุทธศาสตน์ประเทศระยะ 20 ปี ใน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีวิสัยทัศน์การสร้างดุลยภาพอย่างยั่งยืนของ 3 ส่วน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยด้านเศรษฐกิจจะไม่เน้นจำนวนแต่จะเน้นรายได้ โดยปี 59 ตั้งเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป็น 2.5 ล้านล้านบาทในปี 2560 เน้นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง

ด้านสังคม จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับในสังคมไทย และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม เน้นพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน

สำหรับพันธกิจจะเน้นตลาดคุณภาพพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวและชุมชน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระดับชาติสู่ท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์กระทรวงการท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1. ยุทธศาสตร์ การส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว กลยุทธการยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวสู่การเป็น Quality Leisure Destination, กลยุทธ การปรับโครงสร้างตลาดสู่ High Value, กลยุทธสร้างโอกาสทางการท่องเที่ยวสู่คนไทยทุกกลุ่ม และ กลยุทธสร้างสมดุลเชิงเวลาและพื้นที่ โดยการกระจายนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้ตลอดทั้งปี

2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว ได้แก่ 2.1 กลยุทธการพัฒนาเชิงพื้นที่ 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว 12 เมืองต้องห้ามพลาด และ พื้นที่ 8 เขตชายแดน ซึ่งคาดว่สจัสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นประมาณรัอยละ 10 จากการรุกโครงการใน 12 เมือง

2.2 กลยุทธพัฒนารายสาขา : การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเพื่อการประชุมและนิทรรศการ การท่องเที่ยวสีเขียว การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเทั่ยวเรือสำราญ และการท่องเทั่ยวกลุ่มมุสลิม

2.3 กลยุทธพัฒนาสิ่งอำนวยความวะดวกด้านการท่องเที่ยว 2.4 กลยุทธความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว และ 2.5 กลยุทธพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือน้ำลึก ที่จังหวัดภูเก็ต

3.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการท่องเที่ยว ได้แก่ กลยุทธการบูรณาการทำงานผ่านกลไกการขับเคลื่อนทั้งระบบ, กลยุทธพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและยกระดับผู้ประกอบการการท่องเที่ยว กลยุทธการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยว และ กลยุทธปรับปรุงกฎหมายและกลไกบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ