ทั้งนี้เป็นผลจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 60,501 42,269 32,669 และ 17,781 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.7 7.3 29.1 และ 22.3 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมัน การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมายจำนวน 43,057 25,387 และ 15,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.8 23.4 และ 16.6 ตามลำดับ
สำหรับในเดือนมิ.ย.58 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 257,703 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,826 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 33.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 14,036 ล้านบาท (ร้อยละ 12.7) เนื่องจากการชำระภาษีภาษีจากฐานกำไรสุทธิของผลประกอบการปี 2557 (ภ.ง.ด.50) ต่ำกว่าประมาณการ และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,455 ล้านบาท (ร้อยละ 11.1) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้า
อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 8,173 ล้านบาท หรือร้อยละ 158.9 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ทุนหมุนเวียนบางแห่งได้นำส่งสภาพคล่องส่วนเกินคืนเป็นรายได้แผ่นดิน ส่งผลให้ส่วนราชการอื่นจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 5,615 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 3,311 ล้านบาท เนื่องจากมีการเหลื่อมนำส่งรายได้มาจากเดือนที่แล้วของธนาคารอาคารสงเคราะห์ 1,700 ล้านบาท และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นำส่งรายได้เพิ่มเติม 1,540 ล้านบาท
"การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 กลับมาขยายตัวอีกครั้งเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศขยายตัวกว่าร้อยละ 7 สะท้อนให้เห็นว่าในประเทศยังมีการบริโภคและการลงทุนอยู่ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา และจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นอย่างมาก" นายกฤษฎา กล่าว