รมว.พลังงาน มั่นใจไร้ปัญหาไฟตก-ดับช่วงแหล่งก๊าซฯเจดีเอหยุด 21-25 ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 18, 2015 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานลงพื้นที่โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ตรวจความพร้อมรับมือสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ไม่พอใช้เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตก๊าซฯในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ช่วงวันที่ 21-25 ก.ค.58 พร้อมวางมาตรการรอบด้านทั้งการเตรียมพร้อมโรงไฟฟ้า มาตรการร่วมมือลดใช้ไฟฟ้ากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยรับซื้อส่วนที่ประหยัดไฟได้ พร้อมรณรงค์สู่ภาคประชาชนรวมพลังชาวใต้ “ปิด-ปรับ-ปลด" ลดใช้พลังงานในช่วงเวลาดังกล่าว มั่นใจจะไม่เกิดปัญหาไฟตก-ดับในช่วงเวลาดังกล่าว
"ยืนยันได้ว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมทุกมาตรการเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ สร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ที่มาจากปัญหาเชื้อเพลิงไม่พอเพียงแน่นอน รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมให้ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ก๊าซ NGV อีกด้วย"นายณรงค์ชัย กล่าว

วันนี้ รมว.พลังงาน ลงพื้นที่โรงไฟฟ้าจะนะ เพื่อตรวจติดตามความพร้อมด้านการผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่ต้องบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า 3,115 เมกะวัตต์ โดยเป็นการผลิตจากเชื้อเพลิงที่ใหญ่สุดคือ โรงไฟฟ้าจะนะ 1,476 เมกะวัตต์ นอกนั้นมีโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนอม และสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตประมาณ 1,300 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคือ เขื่อนรัชชประภา 240 เมกะวัตต์ และอื่นๆอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ ที่สำคัญคือโรงไฟฟ้าจะนะที่มีกำลังการผลิตเกือบครึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าภาคใต้ ใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอเชื้อเพลิง ประมาณวันละ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต

กระทรวงพลังงานจึงได้วางมาตรการรับมือทั้งด้านความพร้อมในการผลิตไฟฟ้า (Supply) จากทุกแหล่ง โดยโรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 1 ที่ใช้น้ำมันดีเซลทดแทนได้ จะปรับให้เดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลแทน ทำให้กู้การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าจะนะคืนมาได้ 655 เมกะวัตต์ และให้โรงไฟฟ้าอื่นๆ ของภาคใต้ทั้งหมดเตรียมความพร้อมเดินเครื่องทุกหน่วย รวมทั้งงดการหยุดซ่อมบำรุงใดๆ และได้ประสานงานโรงไฟฟ้าดีเซลในค่ายทหารเดินเครื่องเสริม ส่วนระบบสายส่งได้ตรวจสอบระบบสายส่งที่เชื่อมโยงกับภาคกลางพร้อมใช้งาน 100% และสำหรับด้านความพร้อมของน้ำมัน ได้ประสานกับบมจ.ปตท. (PTT) โดยวางแผนเติมน้ำมันที่โรงไฟฟ้ากระบี่และโรงไฟฟ้าจะนะ รวมทั้งยังเตรียมทีมบุคลากรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไว้พร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้ได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงานด้านลดการใช้ไฟฟ้า (Demand) ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและโรงแรม ผ่านโครงการ Demand Response โดยเปิดรับซื้อผลประหยัดไฟฟ้าที่ประหยัดได้ที่ 3.40 บาท/หน่วย มีเป้าหมายลด Peak ไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ ในช่วง 18.30 – 22.30 น. พร้อมกับรณรงค์ประชาชนชาวใต้ทุกภาคส่วนร่วมปฏิบัติการ 3 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด" ลดใช้พลังงานในช่วงเวลาดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน

สถานการณ์การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงในเรื่องเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าสูง กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า ขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อให้สามารถรับไฟฟ้าเสริมจากภาคอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างท่าเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รองรับ LNG นำเข้าจากต่างประเทศสำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าภาคใต้ รวมทั้งมีนโยบายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ