ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) อนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนในช่วงครึ่งแรกปีนี้มากถึง 1,254 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 412,690 ล้านบาท และเชื่อว่าการอนุมัติส่งเสริมลงทุนในปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้วที่ให้การอนุมัติไป 1,662 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 724,740 ล้านบาท เนื่องจากบีโอไอได้เพิ่มการอนุมัติส่งเสริมสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ในปีนี้ ขณะที่ไทยยังมีศักยภาพที่จะผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆจากทรัพยากรที่มีในประเทศจำนวนมากทั้งยางพารา ,โปรแตซ และหวังสร้างนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางในอนาคต โดยมองการขยายงานของภาคเอกชนและการท่องเที่ยวของไทยที่ยังเติบโตจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4% ในปีนี้
โดยล่าสุดเศรษฐกิจของไทยถูกกระทบปัญหาการส่งออกที่ลดลงและภาวะภัยแล้ง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตได้เล็กน้อยกว่า 2% เท่านั้น และการใช้จ่ายภาครัฐก็กำลังเร่งงบประมาณออกไป อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของไทยยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 28% ที่มาชดเชยการส่งออก และการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวตามตัวเลขการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอดังกล่าว
"ถ้าถามว่า แล้วทำไมคนถึงมาลงอะไรกันเยอะแยะนะครับ ต้องบอกว่า ในปีนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยรัฐบาล ได้ประกาศเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาอีก 10 หมวด ใน 1,254 โครงการที่อนุมัติไปใน 6 เดือนแรก เป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆประมาณ 309 โครงการ...อันนี้ เป็นข่าวดีนะครับ เพราะอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์สูง เป็นอุตสาหกรรมซึ่งเราหนีการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูเขา ก็ตาม เขายังผลิตอุตสาหกรรมสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ยังสู้เราไม่ได้ เราจำเป็นต้องหนีมา เพื่อให้สินค้าที่มีคุณภาพสูง ราคาสูง และเทคโนโลยีสูงขึ้น นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมปีนี้ ใน 6 เดือนแรก เราถึงอนุมัติโครงการไปแล้ว 1,200 กว่าโครงการ"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อดึกวานนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่ให้การส่งเสริมลงทุนใน 10 หมวด ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารทางแพทย์ และพวกสารอาหารคุณค่าสูง ,การผลิตยางรถยนต์ ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจยื่นเสนอมาแล้ว 3 ราย ขณะที่ไทยต้องการจะได้ถึง 10 รายก็จะช่วยมีกำลังซื้อยางในประเทศได้ถึง 1.5 ล้านตัน จะผลักดันให้ราคายางในประเทศดีขึ้น
,การส่งเสริมผลิตภัณฑ์เหล็ก ประเภทเหล็กทนแรงสูง เหล็กถลุง เหล็กพรุน ซึ่งใช้เทคโนโลยีสูงกว่าผลิตภัณฑ์เหล็กทั่วไป เป็นต้น
พร้อมกันนี้ยังเห็นว่าไทยต้องเร่งสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อหนีคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น การเป็นศูนย์โซลาร์เซลล์ของอาเซียน ,ศูนย์ซ่อมอากาศยานของอาเซียน ,ศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงในอนาคตควรจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศจำนวนมากให้เป็นฐานอุตสาหกรรมในอนาคต อย่างยางพารา ซึ่งนอกจากจะมีการผลิตยางรถยนต์แล้ว อาจจะมีโรงทำล้อยางรถยนต์ได้มากกว่า 10 โรงด้วย ซึ่งการเดินทางไปจีนล่าสุดนันทางจีนได้ตอนนี้รับปากแล้ว 8 โรง โดยจีนจะใช้เมืองไทยเป็นฐานผลิตยางล้อ ฐานที่สอง ผลิตเพื่อป้อนอาเซียน และตลาดโลก
นอกจากนี้ควรจะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่โปรแตซ ที่มีจำนวนมากในประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ โดยปัจจุบันโปรแตซสามารถนำมาผลิตปุ๋ยได้ และผลิตยางบางชนิด ที่ใช้โปแตสเซียมได้ ตลอดจนควรจะจัดตั้งนิคมอุตสหกรรมเฉพาะทางที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่น นิคมอุตสาหกรรมยาง ,นิคมอุตสาหกรรมอากาศยาน เป็นต้น
"เห็นได้ว่านักลงทุนทุกชาติเลยนะครับ ยังชอบเราอยู่ ฉะนั้นคนที่ข่าวลือ ที่ชอบไปบอกว่า เขาจะหนีจากเรา ที่เขาหนีจากเราเพราะว่าเราไม่ปรับชื่ออุตสาหกรรม เราลงไปส่งเสริมของเก่า ซึ่งถ้าประเทศอื่นผลิตได้แล้ว ค่าแรงของประเทศอื่นเขาถูกกว่า พวกนั้นก็ไปที่อื่น แต่เมื่อเรามีรายชื่อใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งออกมาเป็น 10 หมวดอย่างที่ผมอธิบายตอนแรก 309 รายการ 10 หมวดนั้นมีรายการยาวกว่านี้เยอะ ตัวใหม่นี่แหละคือตัวที่จะดึงให้นักลงทุนเข้ามาเติมแทนประเภทที่ลดความสำคัญลง"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว