"หลังจากชัตดาวน์แล้ว เราจะมีน้ำเพิ่มขึ้นที่หน้าเขื่อนชัยนาทเท่าไร และจะมีน้ำเหลือซึ่งจะไปแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งวันนี้เราส่งคนไปดูหมดแล้วว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยง จะมีน้ำเหลือไปช่วยอย่างไร และถ้ากรมชลประทานเห็นว่าสามารถผ่อนคลายการสูบน้ำสำหรับชาวไร่ ชาวนาที่ไม่ได้ใช้เครื่องสูบขนาดยักษ์หรือใช้เครื่องสูบเป็นฝูง ก็จะดูว่าจะดำเนินการได้อย่างไร ทั้งหมดนี้รายงานวันพุธ สรุปผลชัตดาวน์น้ำ แล้วค่อยตัดสินใจในเชิงนโยบายอีกที" นายปีติพงศ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำเสนอมาตรการในระยะกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย 1.การเสนอให้เกษตรกรปลูกพืชหลังฤดูแล้ง เนื่องจากปีนี้ชาวนาในเขตลุ่มเจ้าพระยาทำนาได้ครั้งเดียว เมื่อฝนผ่านไปความชุ่มชื้นในดินยังมีอยู่ จึงจะเสนอให้ปลูกพืชหลังฤดูแล้ง
2.การปรับโครงสร้างการทำเกษตรกรรมในเขตลุ่มเจ้าพระยา เนื่องจากคาดว่าในอนาคตจะไม่สามารถใช้น้ำฟุ่มเฟือยแบบนี้ได้แล้ว ดังนั้นจะมีการปรับโครงสร้างในนาบางส่วน เช่น เป็นเกษตรผสมผสาน และมีระบบชลประทานขนาดจิ๋วในฟาร์ม เป็นต้น และ 3.การให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารและน้ำในฟาร์มและในชุมชนให้มากขึ้น
"นี่คือระยะปานกลางที่จะนำเสนอในวันพุธเช่นกัน นอกเหนือจากเรื่องการจัดการน้ำ ระยะยาวคงต้องวางแผนกันอีกทีว่าจะทำอย่างไร เช่น แยกระหว่างน้ำอุปโภคบริโภคกับน้ำเพื่อการเกษตร เพราะต้องปรับระบบทั้งโครงสร้าง" รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุ
นายปีติพงศ์ ยังกล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อที่จะถูกปรับออกด้วยว่า ยอมรับว่าได้ยินกระแสข่าวนี้บ้าง แต่ไม่ได้สนใจว่าจะมีแหล่งที่มาจากไหน โดยยืนยันในทีมเศรษฐกิจทุกคนต่างตั้งใจทำงาน และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้มีการส่งสัญญาณหรือสื่อสารกับทีมเศรษฐกิจว่าจะมีการปรับครม.
"ไม่มีหรอก ก็แค่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานไป มองหน้ากันก็รู้สถานการณ์ตัวเองดีอยู่แล้ว รู้ว่ามีกระแสอยากให้ปรับ แต่ปรับอย่างไหน มาจากใคร ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ รู้แค่มีกระแสกดดันให้พวกเราบางคนออกไป" รมว.เกษตรฯ กล่าว