เอสเอ็มอีแบงก์จับมือ บสย.ร่วมโครงการ Policy Loan ต่อสายป่านเข้าถึงแหล่งทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 20, 2015 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank โดยนางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) โดยนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ และนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan เป็นโครงการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 ในการช่วยเหลือลดภาระทางการเงินของ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% และให้ บสย.เข้าค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารผู้ปล่อยกู้ รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่จะส่งออกหรือไปลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย สินเชื่อ Policy Loan มีวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท การค้ำประกันของ บสย. เป็นลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme มีเพดานการค้ำประกันสูงสุด 18% ของยอดเงินให้สินเชื่อ ทั้งนี้คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ได้กำหนดหลักเกณฑ์สินเชื่อ Policy Loan ดังนี้

1.กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ลูกหนี้เป็น SMEs ขนาดเล็ก มักไม่มีหลักประกัน จึงให้ บสย.ค้ำประกันทั้งจำนวน 2. กรณีวงเงินกู้มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ถ้าผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตรที่เซ็น MOU กับเอสเอ็มอีแบงก์ ทาง บสย.จะค้ำประกันให้ทั้งหมด แต่ถ้ากรณีที่ไม่ผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตรให้ใช้ส่วนผสมโดยใช้หลักประกันตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร 40% และ บสย.ค้ำประกัน 60% ของยอดสินเชื่อ 3.กรณีวงเงินมากกว่า 5 ล้านบาท ให้ใช้หลักประกันตามเกณฑ์ของธนาคาร

โครงการ Policy Loan สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปีที่ 1 – 3 อัตราดอกเบี้ยเพียง 4% สำหรับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทแรก และปีที่ 4-5 วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และถ้าวงเงินเกินกว่า 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ของธนาคาร โดยมีระยะเวลาการกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี และปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน

นอกจากนี้ บสย.จะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ผู้กู้ในปีแรก ส่วนปีที่ 2-3 เก็บค่าธรรมเนียม 1% ของวงเงินค้ำประกัน จากอัตราปกติที่เรียกเก็บ 1.75% โดยกระทรวงการคลังจะชดเชยส่วนที่ขาดให้ บสย. และในปีที่ 4 – 5 จะต้องให้ SMEs จ่ายค่าธรรมเนียมให้ บสย.ตามปกติ คือ 1.75% ของวงเงินที่ค้ำประกัน

ทั้งนี้ เพียงวันที่ 15 ก.ค.2558 ได้มี SMEs มาขอกู้ 1,217 ราย รวมเป็นวงเงิน 6,185 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการขอกู้ของ SMEs ที่ถูกผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ 3,897ล้านบาท (867 ราย) ส่วนที่เหลือเป็น SMEs ขนาดเล็กที่ประสงค์ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ