นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท.ได้สรุปคำปาฐกถาของนายฟิลิปป์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดการเงินของโลกในขณะนี้หากมองในระยะสั้นเริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นความท้าทายเศรษฐกิจโลกในระยะยาวทั้งจากปัจจัยบวกและลบ เช่น กระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะประเทศต่างๆปรับตัวระดับสูง ซึ่งการลดหนี้(deleveraging) จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีบทบาทของธนาคารกลางจากมาตรการผ่อนคลายเชิงนโยบาย(QE) ที่ยาวนานของประเทศพัฒนา สร้างความบิดเบือนในราคาสินทรัพย์ และจะเป็นความเสี่ยงสำคัญเมื่อธนาคารกลางต้องลดบาทบาทและทยอยลดสภาพคล่อง(unwind) ในระยะต่อไป ขณะเดียวกันการปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับสถาบันการเงิน อาจจะส่งผลต่อโครงสร้างงบดุลและรูปแบบธุรกิจ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจโลกได้
ทั้งนี้ พัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แบ่งได้เป็น 2 แนวคิด คือ ช่วงการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการผลิต และช่วงเศรษฐกิจโลกเติบโตช้าเนื่องจากมีการลงทุนและการบริโภคน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยส่วนหนึ่งมาจากการออมในระดับสูง รวมถึงนวัตกรรมที่ลดแรงจูงใจการลงทุนของธุรกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปจะยังมีความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ปัญหา hard landing ของเศรษฐกิจจีน และปัญหา Grexit และการคงอยู่ของกลุ่มยูโร
นายจิรเทพ กล่าวว่า นายฟิลิปป์ได้ให้แนวคิดว่าภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ และผลตอบแทนการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ธนาคารกลางต้องกระจายการลงทุน (Risk diversification) โดยอาจพิจารณาจากบทเรียนของ Swiss National Bank ที่มีการกระจายนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลงทุนออกไปยังหลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เนื่องจากการแข็งค่าของฟรังก์สวิสที่ทำให้ผลตอบแทนปรับลดลง อย่างไรก็ดี SNB ไม่ลงทุนในลักษณะเฉพาะเจาะจง และไม่เข้าไปซื้อหลักทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ เพราะจะเป็น conflict of interest
ขณะเดียวกัน นโยบายการลงทุนควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินนโยบายการเงินเป็นอันดับแรก โดยต้องสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนในกรณีที่เกิดผลขาดทุนจากการดำเนินนโยบายการเงินตามเป้าหมายของธนาคารกลางเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจด้วย