"เรือประมงที่หยุดทำการประมงมีจำนวนลดลง ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำการประมง หรือใบอนุญาตอื่นยังไม่ครบถ้วน โดยพบว่าส่วนมากเป็นเรือที่ใช้เครื่องมืออวนลาก อวนรุน และเครื่องมือทำการประมงปลากะตัก ซึ่งเรือประมงกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนเป็นเครื่องมือประมงที่ทางราชการอนุญาต และพยายามแก้ไขในส่วนที่ยังไม่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถออกทำการประมงได้ นอกจากนี้คนประจำเรือประมงบางลำอยู่ระหว่างเข้ารับการอบรมเพื่อรับใบอนุญาตและใบประกาศต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" นายปีติพงศ์ กล่าว
สำหรับด้านผู้ประกอบการแพปลาและโรงงานน้ำแข็งเปิดทำการได้ตามปกติแล้ว และมีปริมาณสัตว์น้ำเข้าตลาดเพิ่มมากขึ้น ราคาสัตว์น้ำส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับปกติ ยกเว้นในบางพื้นที่ที่มีสภาวะคลื่นลมแรงเรือประมงออกทำการประมงได้น้อยปริมาณสัตว์น้ำก็อาจจะส่งผลต่อราคาอยู่บ้าง
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลดำเนินการให้บริการของหน่วยเคลื่อนที่ (Mobile Unit) และการบริการปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการรับคำขอและออกใบอนุญาตทำการประมง 1,622 ฉบับ ใบทะเบียนเรือไทย 992 ลำ ใบอนุญาตใช้เรือ 800 ลำ ใบอนุญาตนายท้ายเรือ 5,532 ราย ใบอนุญาตช่างเครื่อง 5,269 ราย และใบอนุญาตอื่น เช่น ยกเลิกทะเบียนเรือ ขอเปลี่ยนแปลงขนาดเรือ เครื่องยนต์ รวม 106 ลำ
โดยในส่วนของหน่วยเคลื่อนที่ยังเปิดให้บริการ ผู้ประกอบการเรือประมงรายใดที่ยังไม่มีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตทำการประมง สมุดบันทึกการทำประมง (Log Book) บัตรประชาชน (ไต๋เรือ นายท้ายเรือ ช่างเครื่อง) ทะเบียนลูกจ้าง ใบอนุญาตทำงาน สัญญาจ้าง ใบประกาศ (นายท้าย ช่างเครื่อง) และการติดตั้งอุปกรณ์ติดตาม (VMS) สามารถแจ้งความประสงค์ขอดำเนินการได้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 หรือสามารถไปติดต่อยังสำนักงานประมงจังหวัดได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558