ครม.ไฟเขียวรวมพ.ร.บ.ศุลกากร 24 ฉบับไว้ในฉบับเดียว-ปรับอัตรารางวัล-กำหนดโทษ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 21, 2015 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ได้มีการประกาศใช้มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ส่งผลให้มีพระราชบัญญัติศุลกากรหลายฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2480 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2480 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 ทำให้กฎหมายศุลกากรกระจัดกระจาย ไม่สะดวกในการใช้งาน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน

ตลอดจนรวบรวมกฎหมายที่ใช้อยู่ทุกฉบับให้เป็นพระราชบัญญัติฉบับเดียว อีกทั้งยังสมควรปรับปรุงแก้ไขให้มีมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community) สมควรปรับปรุงแก้ไขและจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติศุลกากรเพียงฉบับเดียว

"เป็นการนำเอาพ.ร.บ.ศุลากร 24 ฉบับรวมเป็นฉบับเดียว เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ หรือนักธุรกิจ เวลาจะติดต่อหรือทำธุรกรรม ต้องไปดูว่าเกี่ยวข้องกับฉบับใด ทำให้เกิดความล่าช้า และไม่เป็นที่เชื่อมั่น เชื่อถือ" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการปรับแก้สาระสำคัญบางประการ อาทิ การจ่ายเงินจับกุมการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ จากอัตราตอบแทนเงินรางวัล 25% จากเงินที่ขายของกลางหรือค่าปรับ กระทรวงการคัลงมองว่าเยอะเกินไปจึงได้ปรับลดลงเหลือ 15% และกำหนดเพดานสูงสุดต้องไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่นำจับ คงอัตรารางวัลไว้ที่ 30% และกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีการแก้ไขความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอากร หรือข้อห้าม ข้อจำกัด การลักลอบหนีศุลกากร จากที่มีโทษเท่ากัน ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้ยกเอาฐานความผิดลักลอบหนีศุลกากร หนักกว่าการหลีกเลี่ยงอากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ