น.ส. อุสรา กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายการเงินแบบอ่อนค่านั้นสามารถทำได้ แต่ต้องมั่นใจว่าจะควบคุมนโยบายในลักษณะนี้ให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องที่ไทยจะใช้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะจะมีความเสี่ยงในเรื่องต้นทุน และความสามารถของไทยในการควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว หรืออาจจะถูกผู้เล่นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนควบคุมได้
แม้ว่าในมุมของไทยจะมีสภาพคล่องในระดับสูง จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอต่อการดูแลปัจจัยพื้นฐานของประเทศ แต่อาจไม่มากพอที่จะต่อสู้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้น มองว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการดำเนินนโยบายการเงินในขณะนี้ คือการปล่อยให้สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานและกลไกตลาด อย่าดึงความสนใจของตลาดมาที่เรา เพราะเชื่อว่าในระยะต่อไป 5-10 ปีเงินบาทก็จะอ่อนค่าลงอยู่แล้ว จากการขยายตัวในการลงทุนของภาคเอกชนที่ทำให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มในทุกส่วนในระยะยาว
อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพในการเติบโต แม้ในช่วงนี้จะมีความเสี่ยงจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายดีขึ้น และในอนาคตหวังว่าภาครัฐจะใช้สินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ 5 ล้านล้านบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการเติบโตในอนาคต