ส.อ.ท.ห่วงภัยแล้งกระทบ GDP โตไม่ถึง 3% หวังทีมศก.ใหม่แก้ปัญหาเร็วขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2015 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3% ในขณะที่การส่งออกอาจจะติดลบราว 2% ซึ่งได้รวมผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งไว้แล้ว แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศมีความรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็อาจจะต้องปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงไปอีก ซึ่ง ส.อ.ท.จะประเมินภาพรวมอีกครั้งในเดือนต.ค.นี้
"ปัญหาภัยแล้งถือว่าส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งทำให้การใช้จ่ายลดลงตามรายได้ อีกทั้งที่ผ่านมาเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอยู่แล้ว" ประธานส.อ.ท.ระบุ

ส่วนภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจจะยังชะลอตัวอยู่นั้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) บางส่วนต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ลดการทำงานล่วงเวลาเพื่อลดต้นทุน แต่ยังมองว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะไม่ปลดแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยยังคงขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องรักษาแรงงานกลุ่มดังกล่าวไว้ เพื่อเดินหน้าการผลิตได้ทันทีหากภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นในช่วงนี้รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีเงินทุนเวียนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เข้ามาค้ำประกัน รวมถึงมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Policy Loan) เข้ามาช่วยผู้ประกอบการรายย่อย แต่ก็ถือว่าดำเนินการล่าช้าเกินไป ดังนั้นต้องติดตามดูว่าแม้ บสย.จะเข้ามาค้ำประกัน แต่สถาบันการเงินจะยอมปล่อยสินเชื่อหรือไม่

"มาตรการภาครัฐตอนนี้ รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือมากขึ้น แต่ต้องรอดูในส่วนของวงเงินงบประมาณที่ให้บสย.ค้ำประกันว่าจะสามารถเข้าสู่ระบบได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญคือ แบงก์จะยอมปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหรือไม่ หรือ SMEs จะต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่ม" นายสุพันธ์ กล่าว

ประธาน ส.อ.ท.ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วยว่า ภาคเอกชนมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีหากทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาสามารถทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมามองว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ประสานงานกับภาคเอกชนเท่าที่ควร และยังมีความล่าช้า ซึ่งหวังว่าทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่จะให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหาให้แก่ภาคเกษตร และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมค่อนข้างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ